'นครบาล' แถลง จับ 'ม็อบ' 70 ราย ชุมนุมไล่ 'นายกฯ'

'นครบาล' แถลง จับ 'ม็อบ' 70 ราย ชุมนุมไล่ 'นายกฯ'

ตำรวจนครบาล แถลง ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม 70 ราย ชุมนุมวันที่ 2-4 ก.ค. เข้าข่ายความผิดตาม พรบ. 5 ฉบับ

5 ก.ค. 64  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของหลายกลุ่มวันที่ 2 ก.ค. - 4 ก.ค.64 ที่ผ่านมา 

พล.ต.ต.ปิยะ รอง ผบช.น. กล่าวว่า การชุมนุมห้วงที่ผ่านมามีการชุมนุมสำคัญดังนี้  วันศุกร์ที่ 2 ก.ค.มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มราษฏร นำโดนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เริ่มจากแยกอุรุพงษ์เคลื่อนมายังแยกพาณิชยการเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ สำหรับวันที่ 3 ก.ค.มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรมพันธุ์ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ โดย 2 กลุ่มแรกชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ส่วนกลุ่มที่ 3 เริ่มที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังแยกราชประสงค์และกลับมาที่แยกนางเลิ้ง  สำหรับวันที่ 4 ก.ค.มี 3 กลุ่มเล็กๆ คือกลุ่มโมกข์หลวงริมนน้ำ กลุ่มศิลปินราษฏร และกลุ่มนายวิรัษ แซ่คู ทั้ง 3 กลุ่มมวลชนจำนวนไม่มาก

จากการกระทำของทุกกลุ่มทั้งวันที่ 2 - 4 ก.ค.เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรค พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.จราจร ส่วนที่มีกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการชุมนุมเปิดท้ายขายของวันที่ 2 ก.ค.เป็นความผิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกส่วนหนึ่ง ในการกระทำผิดของผู้ชุมนุม 2 - 4 ก.ค. เป็นการทำผิดหลายท้องที่คือ สน.นางเลิ้ง สน.ปทุมวัน สน.สำราญราษฎร์ และ สน.พญาไท ในส่วนนี้พนักงานสืบสวนสอบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานมีกลุ่มบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 70 ราย และจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้ รถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกจำนวนหนึ่งที่พนักงานสืบสวนสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้พนักงานสืบสวนสอบสวนกำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นกล้องวงจรปิดในเขตพื้นที่ที่กลุ่มคาร์ม็อบเดินทางผ่านก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กีดขวางการจราจรหรือว่ามีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือไม่ ถ้ามีลักษณะอันตรายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมด การบีบแตรก็เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา 

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่กระทำผิดได้ 70 คน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเพียง 70 ราย ที่ต้องถูกดำเนินคดี เป็นเพียงการเริ่มต้น การดำเนินคดีต้องเริ่มจากการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลการรวบรวมพยานหลักฐานตามกรอบของกฎหมาย อย่างที่เรียนว่าถ้ามีการออกมาชุมนุมถ้ามีการฝ่าฝืนกฎหมายบทใดจะมีการดำเดนินคดีถ้าเดินหน้าไปแล้วถอยหลังไม่ได้.