ฝ่าวิกฤติ พิชิตภารกิจช่วยเหลือ ‘คนไทย’ ในยูเครน

ฝ่าวิกฤติ พิชิตภารกิจช่วยเหลือ  ‘คนไทย’ ในยูเครน

เหตุการณ์ในยูเครนและสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แม้ว่าอาจไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อไทย แต่ด้วยสถานการณ์การสู้รบมีแนวโน้มจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ย่อมจะผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

ปัจจุบัน รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น น้ำมัน ก๊าซ ข้าวสาลี ข้าวโพด ปุ๋ย เหล็ก แร่แพลเลเดียม ซึ่งใช้ในการผลิตไมโครชิพ โดยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกผันผวน และส่งผลกระทบต่อเนื่องจนทำให้ราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกของสินค้าเหล่านี้ ซึ่งประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงไทยย่อมได้รับกระทบตามมาจากการปรับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ภารกิจช่วยเหลือคนไทยในยูเครน เป็นภารกิจที่สำคัญสุด คนไทยในยูเครนมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

 

คนไทยในยูเครนมีจำนวน 256 คน ทางกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมยูเครน ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการดูแลพี่น้องชาวไทยในยูเครนให้ปลอดภัย โดยได้จัดเตรียมแผนอพยพคนไทยในสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกคำแนะนำการเดินทางสำหรับคนไทยเป็นระยะ ๆ (รวม 3 ฉบับ) รวมทั้งติดตามความเป็นอยู่และให้คำแนะนำแก่คนไทยในยูเครนทั้ง 256 คนอย่างใกล้ชิด โดยสร้างช่องทางติดต่อทางกลุ่มไลน์เพื่อให้สื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน ณ เมืองลวิฟ (Lviv) ในภาคตะวันตกของยูเครน โดย ณ วันที่ 7 มี.ค. 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. - 6 มี.ค. 2565 

กระทรวงการต่างประเทศ ได้อพยพคนไทยที่ประสงค์ออกจากยูเครน 230 คนเสร็จสิ้นแล้ว และอำนวยความสะดวกคนไทยให้เดินทางกลับโดยเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 8 มี.ค. รวมทั้งสิ้น 223 คน (บางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง) สำหรับคนไทยที่จำเป็นต้องพำนักในยูเครนต่อไป สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้พิจารณาเดินทางออกจากยูเครนโดยเร็วที่สุด และหากต้องการความช่วยเหลือก็สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตลอดเวลา

การช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในยูเครนในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือร่วมใจของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมการกงสุล กรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงาน และท่าอากาศยาน รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สถานทูตไทย ณ กรุงเบิร์น กรุงโดฮา สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ นครแฟรงก์เฟิร์ต ในการอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในระหว่างเปลี่ยนเครื่อง

ในภารกิจการอพยพครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ยังได้ให้ความร่วมมือแก่สถานทูตฟิลิปปินส์ประจำโปแลนด์ในการอพยพชาวฟิลิปปินส์ จำนวน 15 คน ออกจากยูเครนไปยังกรุงวอร์ซอ ซึ่ง ท่านทูตฟิลิปปินส์ ณ กรุงวอร์ซอ ได้แสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือในครั้งนี้

ขณะที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ได้ให้ความร่วมมือแก่สถานทูตสิงคโปร์ประจำเยอรมนีในการอพยพชาวสิงคโปร์ จำนวน 2 คน ออกจากเมืองโอเดซาไปยังโรมาเนียด้วย

ในความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของมิตรประเทศอาเซียนที่พร้อมช่วยเหลือกันทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ