ถอดรหัส“ซีอีโอ”ลงทุนยุควิกฤติโควิด

ถอดรหัส“ซีอีโอ”ลงทุนยุควิกฤติโควิด

“คลับเฮาส์ ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ : CEO โซเซ Just Say SO”จัดเสวนา “ ซีอีโอ ทำไง เมื่อไวรัสลงพอร์ต” เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

ผ่านมุมมอง “ฉาย บุนนาค” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG), “สมิทธิ์ พนมยงค์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (GULF) “วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนรายใหญ่ และ “เพียรไกร อัศวโภคา” บริษัท เวลธ์ ครีเอชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาร่วมพูดคุยกัน

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิดรอบนี้พอร์ตลงทุนของซีอีโอทั้ง 4 ยังอยู่รอดปลอดภัยดี ด้วยแนวคิดการลงทุน “เหลือสภาพคล่อง ลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ กระจายสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายเลือกรูปแบบ” ขณะที่มุมมองต่อ “ตลาดหุ้นไทย” หลังจากนี้ “ยังไปต่อได้”ด้วยสภาพคล่องยังล้นระบบและจิตวิยามวลชนจากความหวัง“วัคซีน” และ “เปิดประเทศ” หนุน แม้ระยะสั้นปรับฐาน แต่เป็นจังหวะเข้าไปลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์ พร้อมกันนี้ในช่วงวิกฤติยังเป็นโอกาสเข้าไป “ลงทุนเพื่อเรียนรู้”สินทรัพย์ใหม่สร้างโอกาสการลงทุนในอนาคตเช่นกัน

“ฉาย” กล่าวว่า ส่วนตัว “ไม่ได้ลงทุนเลย” ในภาวะวิกฤติ พร้อมแนะว่า "ไม่ควรลงทุน” ในวิกฤติ แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนขึ้นกับแต่ละบุคคลตามบริบทที่เปลี่ยนไป ทั้งประสบการณ์หรือช่วงวัย หากจะลงทุน ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ที่สำคัญต้องมีวินัยในการวางแผนการลงทุนและจัดพอร์ต ไม่ปล่อยให้ “ความโลภ”กับ “ความกลัว” เข้ามา

“อยากให้ทุกคนมองย้อนกลับไปในวิกฤติแล้วนำประสบการณ์มาปรับใช้ตัดสินใจลงทุน” จึงมีคำที่ว่า “ให้โลภในเวลาที่มีคนอื่นกลัว และให้กลัวในเวลาที่คนอื่นโลภ”

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในโควิดรอบ 3 ไม่ลงแรง ลงแล้วมีแรงซื้อกลับ หุ้นไทยถูกขับเคลื่อนในเชิงจิตวิทยาผ่านความหวังที่มีการฉีดวัคซีนและเปิดประเทศทำให้หุ้นไทยยังไปต่อได้ แต่ต้องคิดก่อนว่า “สิ่งที่เราจะตัดสินใจลงทุน เป็นการลงทุน เก็งกำไร พนัน” ซึ่ง “การลงทุน” จะใช้กับสิ่งที่เราแล้วต้องตอบได้ว่า “ลงทุนอะไร เพื่ออะไร ได้อะไรกลับมา และต้องเข้าใจสิ่งนั้นก่อนลงทุน”

ด้านสินทรัพย์ใหม่ตอนนี้ คนไทย ตื่นตัวมากกับ “คริปโตเคอร์เรนซี่ และ“DeFi”( Decentralized Finance) แม้จะมีโอกาสรวยได้รวดเร็ว แต่เราต้องกลับมาเข้าใจปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค ถ้าทุ่มไปหมดแล้วเกิดผันผวนอาจหมดตัวได้ แม้ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อสิ่งนี้ แต่ก็กำลังเรียนอยู่ “บิทคอยน์อาจเป็นสินทรัพย์หลักได้ แต่คริปโตฯอื่นต้องพิจารณาให้ดี”

นอกจากนี้ “หุ้นไอพีโอ” ที่ออกมาค่อนข้างมากในตลาดช่วงนี้ ถ้าได้ราคาจองเป็นสิ่งที่ดี แต่เตือนว่า ต้องระวังเช่นกัน ไม่แนะนำไล่ซื้อหุ้นไอพีโอในวันเทรด ที่ราคาพุ่งเกิน 80% เพราะราคามีโอกาสปรับลงมากกว่าขึ้น ทั้งนี้ในทุกการลงทุนต้อง “มีวินัยและมีความสุข” ลงทุนไปล้วต้องนอนหลับ มีความสุขกับครอบครัวได้ หมายความว่า“ความสุขทางใจกับการลงทุน”เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สามารถใช้ได้ไม่ว่าจะเกิดสภาวะใดก็ตาม

“สมิทธิ์” กล่าวว่า ตัวอย่างการบริหารพอร์ตการลงทุนของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี”ท่านให้แนวคิดว่า พอร์ตลงทุนต้องเหลือสภาพคล่อง อย่า Leverage ลงทุนเพื่อการเรียนรู้ และกระจายความเสี่ยงในหุ้น ในพอร์ตส่วนใหญ่ตอนนี้เป็น“หุ้นและตราสารทุน”

ที่น่าสนใจ คือ “การลงทุนเพื่อการเรียนรู้” เพื่อให้เรามีความชำนาญในสินทรัพย์ใหม่ๆ ทั่วโลกก่อน ถ้าเริ่มมีการลงทุนนั้นแพร่หลายขึ้นในไทย ตอนนั้นเราก็พร้อมทันที เช่น ตอนนี้เรามีการลงทุน SPAC ในตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ ไม่ต้องง้อไอพีโอ

SPAC มาจาก Special Purpose Acquisition Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีการประกอบธุรกิจของตนเอง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะระดมทุนจากผู้ลงทุนและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนำเงินที่่ได้จากการระดมทุนไปซื้อกิจการอื่นที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำมาเป็นธุรกิจหลักของ SPAC

“สมิทธิ์”ระบุว่า ขณะที่พอร์ตลงทุนของบริษัท คือ รักษากระแสเงินสดในมือเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพื่อรองรับความผันผวน และในวิกฤติในวิกฤติ “เลือกหุ้นดี มีกระแสเงินสด ทยอยเข้าสะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนในอนาคต” เช่นการตัดสินใจเข้าลงทุนซื้อ Wind Farm ที่เยอรมัน ในช่วงวิกฤติที่ได้ราคาดี คู่แข่งน้อย ผลตอบแทนสูง ปัจจัยสำคัญที่สุดของการลงทุน คือ “มีเงินเหลือในมือ” เราต้องมีกำลังมากพอในยามที่มีโอกาสแม้ในวิกฤติ

“ตอนผมอยู่ SCB ลูกค้า High Networth ส่วนมากมีสภาพคล่องถึง 30% พร้อมเข้าลงทุนเมื่อมีโอกาสดีๆ”

“วัชระ" กล่าวว่า แนวคิดการลงทุนหลังโควิด-19 ส่วนตัวยังคงใช้ “วิธีการลงทุนแบบเดิมที่ต้องพิจารณาทั้งพื้นฐาน และเทคนิค ประกอบกัน" นักลงทุนติดตามข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์ต่างๆ รวมถึงกระแสฟันด์ โฟลว์ เพราะปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น กราฟเทคนิคเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าจะเข้าซื้อหรือขายออกหุ้นแต่ละตัวอย่างไร

ส่วนกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในช่วงนี้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 หรือธุรกิจที่ยังสามารถขายของได้ ได้แก่ กลุ่มถุงมือยาง และกลุ่มโรงพยาบาลบางตัว แต่ในทางกลับกันมองว่าหุ้นที่ถูกขายไปมากแล้วในช่วงโควิด-19 อย่างกลุ่มโรงแรม กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มร้านอาหาร จะกลับมาน่าสนใจลงทุนอีกครั้งเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง และเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศอย่างเต็มขั้น

ด้านสินทรัพย์ใหม่ที่น่าลงทุนนอกจากหุ้นแล้วก็คงหนีไม่พ้น “คริปโตเคอเรนซี” โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทย ซึ่ง “สามารถดูกราฟเทคนิคเป็นตัวนำทางในการซื้อขายได้” เช่นกันแต่สินทรัพย์ประเภทนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ที่ไม่มีหน่วยงานรองรับ และไม่สามารถหาราคาเหมาะสมตามพื้นฐานที่แท้จริงได้

“อะไรที่มาพล็อตเป็นกราฟได้สามารถดูภาพทางเทคนิคได้ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ค่าเงิน ค่าระวางเรือ ถั่ว งา เหล็ก หรือถ่าน อื่นๆ เพราะกราฟเป็นเครื่องมือตีความพฤติกรรมการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตฯ ยิ่งต้องดูกราฟ เพราะคุณไม่สามารถหามูลค่าที่แท้จริงของมันได้เลย”

“เพียรไกร" กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 หุ้นทั่วโลกและหุ้นไทยปรับขึ้น ด้วย 3 ปัจจัย ธนาคารกลางต่างๆ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าลงทุนมหาศาล และที่สำคัญ “จิตวิทยามวลชน” มีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของตลาด

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนในระยะต่อจากนี้ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะได้ประโยชน์จากมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับแสนล้านบาทต่อวัน อีกทั้งได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมซื้อขายของกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เปิดบัญชี ซึ่งส่วนนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ถัดมา กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ได้ประโยชน์จากการซื้อของออนไลน์

ด้านสินทรัพย์การลงทุนใหม่ที่ต้องจับตา คือ“DeFi” ซึ่งเป็นระบบการเงินที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง สิ่งสำคัญก่อนการลงทุนไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือ DeFi คือต้องศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน เพราะหากลงทุนโดยขาดความเข้าใจแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากการเล่นพนัน