'ไอที-อีคอมเมิร์ซ-ดิลิเวอรี่' รุ่ง รับกระแส 'เวิร์คฟรอมโฮม' 

'ไอที-อีคอมเมิร์ซ-ดิลิเวอรี่' รุ่ง รับกระแส 'เวิร์คฟรอมโฮม' 

โควิด-19 ดันกลุ่มบริษัทไอที อีคอมเมิร์ซ ดิลิเวอรี่ ยังเป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง “แอดไวซ์-เจไอบี” บริษัทไอทีชั้นนำ ที่เน้นขายสินค้าไอทีผ่านออนไลน์ ทำกำไรเกือบ 100% หลังดีมานด์สินค้าไอทีเพิ่มสูง “ยูทูบเบอร์” ยังแรงทำรายได้โตต่อเนื่อง ‘อีคอมเมิร์ซ’ ช่องทาง

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวว่า ความต้องการสินค้าไอทีของผู้บริโภคปัจจุบันมีศักยภาพที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้สินค้าไอทีอาจจะเป็นเพียงสินค้าทางเลือกมีลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ ก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น แต่โควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของลูกค้านั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และอุปกรณ์ไอทีก็เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากยิ่งขึ้น 

รวมถึงการปรับตัวขององค์กรและธุรกิจต่างๆ ที่นำรูปแบบการทำงานแบบเวิร์คฟรอมโฮมมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้ดีมานด์สินค้าไอทียิ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤติโควิด เป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ไอที

“ดีมานด์สินค้าไอทีไม่ได้ลดลงแต่ประสบปัญหาซัพพลายไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากโควิด โน้ตบุ๊กมีความต้องการสูงเพราะต้องใช้ทำงานช่วงเวิร์คฟรอมโฮม"

ปัจจุบันแอดไวซ์ เน้นขายสินค้าผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1.อี-เทลเลอร์ออนไลน์ 2.อี-มาร์เกตเพลซ บนแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ ลาซาด้า เจดี-เซ็นทรัล 3.โซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นรูปแบบการขายและให้บริการผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค และพร้อมให้บริการรับซ่อม-เคลม ถึงบ้าน

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ช่วงโควิดยอดขายออนไลน์เติบโตหลายเท่าตัว ภาพรวมการเติบโตของบริษัทจะมาจากทั้งการขายหน้าร้าน ออนไลน์ การเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค 

โดยเฉพาะกลุ่มเกม บิตคอยน์ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ ที่ผ่านมา เจไอบี โฟกัสช่องทางออนไลน์เต็มที่ ปรับโฉมเว็บนำระบบเอไอเข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า พร้อมเตรียมเปิดตัวอีมาร์เก็ตเพลสขายสินค้าไอที และแก็ดเจตเพิ่ม

ขณะที่ แหล่งข่าววงการไอที ระบุว่า แม้จะเผชิญเรื่องซัพพลายเชน ส่งผลสินค้าไอทีบางตัวขาดตลาด แต่ดีมานด์ยังอยู่ ถ้าของมาก็พร้อมสั่งซื้อทันที รวมถึงกระแสบิตคอยน์ที่มาแรงจำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ สเปคแรงๆ ทำให้เกิดกลุ่มที่หันมาซื้อชุดคอมพิวเตอร์ การ์ดจอเพื่อการนี้ ทำให้สินค้าบางตัวขาดตลาด

บริษัทไอทีกำไรพุ่ง

Creden data เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจชั้นนำ ได้รายงานข้อมูล รายได้ กำไรของสองบริษัทไอทีชั้นนำทั้งแอดไวซ์ และเจไอบี ซึ่งทั้ง 2 ราย เน้นตลาดออนไลน์เป็นช่องทางขายหลักมานานหลายปี กลายเป็นผู้เล่นหลักในวงการนี้ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด มีรายได้ปี 2562 ที่ 11,116 ล้านบาท รายได้ปี 2563 อยูที่ 12,152 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.31% ขณะที่มีกำไรปี 2562 ที่ 130 ล้านบาท และมีกำไรปี 2563 ถึง 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นไปถึง 92.3%

ขณะที่ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด รายได้ปี 2562 อยู่ที่ 8,268 ล้านบาท รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 8,280 ล้านบาท มีกำไรปี 2562 ที่ 61 ล้านบาท กำไรปี 2563 อยู่ที่ 127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 107.92%

ทั้งนี้ Creden data วิเคราะห์ว่า แม้รายได้ทั้ง 2 บริษัทจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่มากเท่าไหร่แต่สัดส่วนกำไรมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นเพราะทั้งคู่เน้นเน้นขายออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ควบคุมต้นทุนการขายได้

ยูทูบเบอร์โต 100%

อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างให้คนธรรมดากลายเป็นดาวในโลกออนไลน์ ทำรายได้ต่อเดือนได้ไม่น้อยนั่นคือธุรกิจ “ยูทูบเบอร์” ปัจจุบันมีจำนวนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น หลายบริษัทที่ทำยูทูบเบอร์เติบโตกว่า 100% ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติโควิด  

Creden data เผยรายได้ของยูทูบเบอร์ตัวท็อปอย่าง บริษัท สไลเดอร์ โปรดักชั่น จำกัด ทำช่อง Kaykai Salaider มีสมาชิกมากกว่า 14.2 ล้านคน มีรายได้โดยประมาณปี 2560 อยู่ที่ 2 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 1 ล้านบาท) รายได้โดยประมาณปี 2561 อยู่ที่ 50 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 27 ล้านบาท) และรายได้โดยประมาณปี 2562 อยู่ที่ 49 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 21 ล้านบาท)

บริษัท เดอะสกาฟิล์ม จำกัด ทำช่อง Bie The Ska มีสมาชิกมากว่า 11.9 ล้านคน รายได้ปี 2560 อยู่ที่ 10 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 1 แสนบาท) รายได้ปี 2561 อยู่ที่ 25 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 3 ล้านบาท) และรายได้ปี 2562 อยู่ที่ 40 ล้านบาท (กำไรโดยประมาณ 6 ล้านบาท) ขณะที่ ปี 2563 มีรายได้รวม 49 ล้านบาท เติบโต 21% ซึ่งแน่นอนว่า ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา รายการผ่านยูทูบเหล่านี้ยังมียอดคนรับชมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้ให้ยูทูบเบอร์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

อีคอมเมิร์ซ ขนส่ง ดิลิเวอรี่มาแรง

ปีที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด มีมูลค่าแตะ 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวกว่า 270,000 ล้านบาท (ข้อมูลวิจัย “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 จาก Google, Temasek และ Bain & Company) สิ่งที่ทำให้เติบโตเพิ่มขึ้นนี้มาจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และหันมาชอปปิงออนไลน์กันมากขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง และยังติดอับดับ 1 ของธุรกิจดาวรุ่งในปีนี้

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซปีนี้จะเติบโตราว 35% แม้จะมีโควิดเป็นตัวเร่ง ทำให้ปีนี้ที่จะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซแข่งขันดุเดือดเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียลงมาเล่นตลาดนี้อย่างจริงจัง เฟซบุ๊ค เปิด Facebook Shops พื้นที่ขายจากเดิมแบบไร้รอยต่อ ให้ผู้บริโภคซื้อขายโอนเงินจบในเฟซบุ๊คแบบไม่ต้องออกจากแอพไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์ ในส่วนของ ไลน์ ปั้น LINE Shopping เป็นแหล่งรวบรวมร้านค้าที่เปิดร้านด้วย LINE MyShop

ด้วยเครื่องมือการเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีมากมาย นอกจากหนุนให้บริษัทอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์ช่วงโควิด ยังเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่รายย่อยหันมาจับอาชีพขายของออนไลน์ จนเป็นธุรกิจ และทำรายได้เข้ากระเป๋าในยุคนี้ได้ไม่น้อยเช่นกัน

เมื่ออีคอมเมิร์ซโต การขนส่งพัสดุก็เติบโตตาม ที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งพัสดุในไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ทั้ง แฟลช เอ็กซ์เพรส ในเครือแฟลช กรุ๊ป เคอรี่ เอ็กซ์เพรส หรือแม้แต่ ไปรษณีย์ไทยที่ต้องปรับตัวเพื่อรับดีมานด์ส่งพัสดุที่มีมากกว่าหลายล้านชิ้นต่อวัน รวมไปถึงธุรกิจรับส่งเอกสารต่างๆ ธุรกิจดิลิเวอรี่ การสั่งอาหารผ่านแอพ ที่มีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้เช่นกัน