ราชบุรี สั่งปิด โรงงานอาหารสำเร็จรูป หลังพบผู้ติดเชื้อกว่า 60 คน

ผู้ว่าฯ ราชบุรี สั่งปิด โรงงานอาหารสำเร็จรูป ถึง 20 มิ.ย. 64 หลังพบผู้ติดเชื้อกว่า 60 คน สัมผัสเสี่ยงสูงอีกกว่า 300 คน ด้าน

จากกรณีที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งหนึ่งใน อ.อำเภอบ้าน จ.ราชบุรี และกำลังแพร่ระบาดไปยังสถานที่อื่น ทำให้ นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดราชบุรี ได้มีการออกหนังสือคำสั่งที่ 2287 / 2564 เรื่องปิดสถานที่ชั่วคราว

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ แพร่กระจายออกไปหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว และพบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 15 ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงอาศัยตามความในมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ จึงมีคำสั่งปิดโรงงานดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 ถึง 20 มิ.ย. 64 ทั้งนี้เมื่อครบกำหมดระยะเวลาปิดให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ประเมิน หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต้องขยายเวลาปิด ให้เสนอมาที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดราชบุรีเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับจังหวัดราชบุรี จากข้อมูลของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อโควิด-19 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ขณะวันที่ 8 มิ.ย. 64 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ภายในโรงงานแล้วจำนวน 62 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกกว่า 300 คน จากยอดของพนักงานภายในโรงงานทั้งหมด 800 กว่า

สำหรับสถานการณ์การระบาดใน จ.ราชบุรี ล่าสุดมียอดสะสมจำนวน 890 ราย รักษาหาย 637 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 235 ราย เสียชีวิตสะสม 18 ราย

ทางจังหวัด จึงขอให้ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี ควรอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่แออัด งานเลี้ยงสังสรรค์ งานบุญประเพณี ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 ป้องกันดูแลตัวเองกันด้วย

ขณะที่ นายยุทธพร พิรุณสาร นายอำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้เข้าตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านโป่ง และสาธารณสุข อ.บ้านโป่ง ได้กำหนดมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว พร้อมเข้าดำเนินการสอบสวนโรค สั่งกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไว้ในโรงงานและให้พนักงานในอาคารแผนกอื่น (กลุ่มเสี่ยงต่ำ) ต้องมารายงานตัวที่บริษัทฯ และรับคำสั่งกักตัวที่บ้าน 14 วัน (HQ) โดยให้ รพ.สต.แต่ละท้องที่ ร่วมกับชุดปฏิบัติการตำบล ติดตามอาการและให้คำแนะนำในการกักตัว