ออมสินเผยยอดปฏิเสธสินเชื่อรายย่อยสูงขึ้น

ออมสินเผยยอดปฏิเสธสินเชื่อรายย่อยสูงขึ้น

ออมสินเผย ยอดปฏิเสธสินเชื่อรายย่อยสูงขึ้น สะท้อนเครดิตคนกลุ่มนี้ต่ำลง เหตุสถานการณ์โควิด-19 ส่งกระทบหนัก โดยยอดกลั่นกรองสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 เบื้องต้นอยู่ที่ 6 ล้านราย จากที่ขอมาทั้งหมด 9 ล้านราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารธนาคารออมสินเปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารออมสินได้เริ่มดำเนินโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยในประเทศ โดยให้กู้รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นต้นมา จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนคนที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อในโครงการนี้มีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงเครดิตของคนกลุ่มนี้ที่แย่ลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคนที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อในโครงการนี้ เช่น คนที่เป็นหนี้เสียแล้ว เป็นต้นซึ่งการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารก็จำเป็นต้องดูแลสถานะของธนาคารด้วย

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ดังกล่าว ธนาคารให้บริการบนระบบMyMoของธนาคารออมสินทั้งหมด โดยไม่ต้องมาที่สาขาของธนาคาร ตั้งแต่กรอกข้อมูลสัญญาเงินกู้ จนถึงการอนุมัติสินเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีผู้ขอกู้ ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลา 1 วันเท่านั้น

เขากล่าวว่า จากจำนวนคนที่ใช้บริการ MyMoจำนวน 9 ล้านราย ธนาคารออมสิน ได้กลั่นกรองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อดังกล่าวแล้ว 6 ล้านรายขณะนี้ อนุมัติแล้ว 2.5 แสนราย อย่างไรก็ดี ธนาคารได้กำหนดเป้าหมายเบื้องต้นที่จะให้สินเชื่อดังกล่าวจำนวน 1 ล้านราย คาดว่า เป้าหมายดังกล่าวจะสามารถทำได้ภายในไม่เกิน 2 เดือนนับจากเริ่มโครงการนี้

โครงการสินเชื่อดังกล่าว จะช่วยผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานบริษัทที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน โดยอัตราดอกเบี้ยคิดเพียง 0.35%เดือน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน กู้ได้นานสูงสุดไม่เกิน 3 ปี และปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ทำให้ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ไปแล้ว 1.95 ล้านราย

สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นสินเชื่ออีกตัวหนึ่งของธนาคารออมสิน ที่ต้องการช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยที่เข้าถึงระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ยาก ล่าสุดธนาคารได้ออกเคมเปญสินเชื่อตัวนี้อีกครั้ง เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในภาพรวม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลังจากบริษัทเงินสดทันใจ ซึ่งเป็นบริษัทที่ธนาคารออมสินร่วมทุนในสัดส่วน 49%ได้ลงมาเล่นในตลาดนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ โดยกดอัตราดอกเบี้ยลงหลือ 0.69%ต่อเดือน ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนี้อยู่ที่ 0.89%ถึง 0.93%ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนี้ในตลาดเริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่0.63-0.67%

“ล่าสุดธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนี้ให้ต่ำลงอีก โดยอยู่ในระดับ 0.49% แต่จะเปิดให้ผู้ขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรายใหม่ช่วงสั้นๆเพียง 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยและรายที่ขอกู้จากโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิดไม่ผ่าน”

เขากล่าวอีกว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าของธนาคารเพื่อไม่ให้ตกลงมาเป็นหนี้เสียเช่น การปรับลดดอกเบี้ยให้หรือขยายระยะการชำระเงินกู้ ซึ่งทำไปแล้ว 8 แสนบัญชีเงินกู้ จาก 2 ล้านบัญชีเงินกู้ที่เข้าโครงการพักหนี้

“ปีนี้ธนาคารไม่เน้นเรื่องการขยายสินเชื่อ โดยคาดว่าสินเชื่อครึ่งแรกของปีนี้อาจจะเท่ากับหรือไม่เติบโตจากสิ้นปีที่แล้ว แต่ธนาคารจะหันมาเน้นเรื่องความมั่นคงของธนาคารมากขึ้น โดยการเพิ่มการสำรองหนี้ให้สูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท จาก ณ เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วที่อยู่ที่เพียง 4 พันล้านบาทซี่งเป็นการทำให้ธนาคารแข็งแรงมากขึ้น และทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ได้มากขึ้น”