ชิ้นส่วนสินค้าไอทีป่วนไม่เลิก ค้าปลีกวุ่นหาของดันราคาพุ่ง

วิกฤต “ชิป-การ์ดจอ” สินค้าไอทีขาดหนัก หวั่นลากยาวยันครึ่งปีหลัง ค้าปลีกวิ่งวุ่น “โน้ตบุ๊ก” หลายรุ่นของไม่พอขาย เหตุดีมานด์พุ่งทั้งจากกระแสขุดบิตคอยน์ และเรียน-ทำงานที่บ้าน “เจ.ไอ.บี.” ปรับแผนไม่แยกขายการ์ดจอ ฟาก “ไอที ซิตี้” ระบุดีมานด์เพิ่มขึ้นทั่วโลก ดันราคาสินค้าไอทีขึ้นยกแผง ทั้ง “โน้ตบุ๊ก-พีซี”

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าไอที “แอดไวซ์” กล่าวกับ“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดสินค้าไอทีในครึ่งปีแรกอาจไม่เติบโต แม้ความต้องการของผู้บริโภคจะเพิ่มสูงขึ้น จากกระแสเรียนออนไลน์ และการทำงานที่บ้าน เพราะมีปัญหาซัพพลายสินค้าไอทีขาดมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีที่แล้ว และเริ่มรุนแรงขึ้นโดยลำดับจนถึงขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ, การ์ดแสดงผล (VGA card)

เป็นผลมาจากกระแสการขุด “บิตคอยน์” ที่มาแรงมากจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดส่งผลให้มีนักลงทุนออกมากว้านซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และการ์ดจอจำนวนมาก รวมเข้ากับการทยอยออกสินค้าใหม่ของแบรนด์ต่าง ๆ เช่น PlayStation 5, Microsoft Xbox เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาซัพพลายชิ้นส่วนชอร์ต

ปัจจุบันกลุ่มแอดไวซ์ยังคงมีสินค้าไอที เช่น โน้ตบุ๊กขายอยู่ แต่อาจมีไม่มากนัก เพราะสินค้าที่สั่งไปไม่ได้ตามจำนวนที่ต้องการ ทำให้ผู้บริโภคต้องรอสินค้าบางรุ่นบ้าง หากปัญหาซัพพลายขาดยังไม่คลี่คลายจะทำให้ราคาสินค้าไอทีปรับราคาขึ้นต่อเนื่องแน่นอนในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ในครึ่งปีหลังนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับทิศทางธุรกิจในปีนี้ของบริษัทจะเดินหน้า relocation 7 สาขาใน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุดรธานี เชียงใหม่ เพชรบุรี เพชรบูรณ์ และภูเก็ต เพื่อขยายขนาดสาขาให้ใหญ่ขึ้น รองรับลูกค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ

ดันราคาขยับขึ้น 20%

ด้านนายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลีกไอที “เจ.ไอ.บี.” กล่าวว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายขาดทั้งการ์ดจอแสดงผล (VGA card)

และกระแสขุดบิตคอยน์ที่เติบโตทำให้ แรม (ram) และหน้าจอ LED ขาดแคลน ส่งผลถึงกำลังการผลิตคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก และโทรทัศน์

โดยฐานการผลิตหลักทั้งในสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และจีน ยังส่งสัญญาณว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจทำให้สินค้าไอทีทั่วโลกปรับราคาขึ้น 20% ขณะที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการจากกระแสเวิร์กฟรอมโฮม และเรียนออนไลน์ จึงหันมาซื้อสินค้าระดับกลางและบนมากขึ้น

“สินค้าที่ขาดหนัก เช่น โน้ตบุ๊ก เดิมเรามียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 12,000 เครื่อง ตอนนี้นำเข้ามาได้เพียง 9,000 เครื่อง เช่นกันกับการ์ดจอตัวแรงสำหรับเล่นเกมก็ขาดหนักทั่วโลก จึงต้องปรับแผนขายการ์ดจอพร้อมคอมพิวเตอร์ประกอบ ไม่ขายแยกเฉพาะการ์ดจออย่างเดียว”

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2564 บริษัทจะเพิ่มโฟกัสไปยังช่องทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่ มีการนำระบบ AI เข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และเชื่อมระบบคำสั่งซื้อกับหุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะ (AGV) เข้าด้วยกัน

โดยจะเปิดตัวเว็บมาร์เก็ตเพลซขายสินค้าไอที และแก็ดเจตภายในเดือน ก.ค.นี้ และคาดว่าจะดันยอดขายออนไลน์ให้มีสัดส่วนเป็น 25% เพิ่มจาก 11% ส่วนเป้าหมายทั้งปีตั้งเป้าเติบโตไม่น้อยกว่า 15% หรือมีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ลุ้น Q3 เริ่มคลี่คลาย

ขณะที่นายเกษม ศรีเลิศชัยพานิช รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดออนไลน์ บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดไอทีเป็นช่วงขาลง เพราะสมาร์ทโฟนบูมมาก กระทั่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้คอมพิวเตอร์พีซี และโน้ตบุ๊ก สำหรับทำงานและเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าไอทีพุ่งขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตทั้งซัพพลายผลิตไม่ทันความต้องการ เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ซัพพลายขาดตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงปีนี้

โดยสินค้าที่ขาด 3 อันดับแรก ได้แก่ ชิปประมวลผล ทั้งในคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ตามด้วย home gadget และแผงควบคุม (panel) ที่มาจากฐานการผลิตเดียวกัน

“แต่ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคเองก็ลดลง และมีอยู่จำกัด จึงทำให้โน้ตบุ๊กระดับกลางและล่าง ราคา 10,000-25,000 บาท ขาดตลาด เหลือเฉพาะสินค้ากลุ่มกลางถึงบนระดับราคา 25,000 บาทขึ้นไป แต่คาดว่าซัพพลายน่าจะกลับมาปกติในไตรมาส 3 ปีนี้”

สำหรับไอที ซิตี้ ในปีนี้จะเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันมีทั้งเฟซบุ๊ก และผ่านอีมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ รวมถึงมีการนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า

เพื่อออกโปรโมชั่นและมีแผนขยายบริการผ่อนชำระสินค้าระยะยาวขึ้น คาดว่าจะมีรายได้รวมในปีนี้ถึง 10,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 7,007 ล้านบาท

“บิตคอยน์-โควิด” ตัวการหลัก

แหล่งข่าวในธุรกิจไอทีวิเคราะห์ว่ากระแสการขุดบิตคอยท์ที่เพิ่มขึ้นมีส่วนอย่างมาก ประกอบกับทิศทางของผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ เปลี่ยนมาเพิ่มน้ำหนักการผลิตสินค้าที่มีสเป็กสูงขึ้นเพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มบนในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป

เนื่องจากทำกำไรได้ดีกว่า สะท้อนจากไลน์อัพสินค้าของหลายแบรนด์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาประกอบกับความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มขึ้นทั่วโลก

เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องทำงานที่บ้านส่งผลให้ซัพพลายที่ผลิตออกมาต้องป้อนไปยังประเทศเหล่านี้ก่อน ทำให้ตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนมีปัญหาสินค้าขาดตลาดเพราะไม่มีวัตถุดิบ