แผนห้ามเข้าปท.ของสิงคโปร์ซ้ำเติมปัญหาขาดแรงงาน

แผนห้ามเข้าปท.ของสิงคโปร์ซ้ำเติมปัญหาขาดแรงงาน

ปัญหาขาดแคลนแรงงานเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ในสิงคโปร์กำลังเลวร้ายลงท่ามกลางความกลัวว่าการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย อาจทำให้รัฐบาลนิวเดลีตัดสินใจออกคำสั่งระงับการส่งออกแรงงานชาวอินเดียเข้ามาทำงานในสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสาม และภาคที่ต้องการแรงงานต่างชาติเนื่องจากต้นทุนแรงงานถูกคือ อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเรือ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากอินเดียและบังกลาเทศ แต่ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลสิงคโปร์จะห้ามชาวอินเดียเดินทางเข้าประเทศในช่วงปลายเดือนเม.ย.และประเทศอื่นๆในเอเชียใต้ห้ามชาวอินเดียเข้าประเทศในช่วงต้นเดือนพ.ค. มาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ก็ทำให้แรงงานจากทั้งสองชาติเลี่ยงที่จะเข้ามาขายแรงงานในสิงคโปร์อยู่แล้ว

ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้นในสิงคโปร์ ส่งผลให้โครงการก่อสร้างในสิงคโปร์ประสบปัญหาล่าช้าอย่างมาก บางโครงการล่าช้าเป็นปี ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ค่าแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 30% ทั้งยังทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำงานหนักเกินไปของบรรดาแรงงานที่มีอยู่เพื่อเร่งงานให้เสร็จทันกับความต้องการของโครงการต่างๆ

แม้การก่อสร้างในสิงคโปร์จะมีสัดส่วนประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)แต่ปัญหาความล่าช้าของโครงการก่อสร้างต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งรวมถึง ทำให้การขายอสังหาริมทรัพย์ในโครงการต่างๆล่าช้าออกไป การเปิดใช้สิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆไม่สามารถทำได้ และท้ายที่สุด ทำให้การบริโภคในประเทศอ่อนแอลง

“คนงานบางคนบอกเราว่าพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานสองกะ แต่ละกะกินเวลา 8 ชั่วโมงและต้องทำงานหนักอย่างน้อยครึ่งสัปดาห์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ”เดสิรี เหลียง ผู้จัดการคดีการทำงานของแรงงานจากฮิวแมนิทาเรียน ออร์กาไนเซชัน ฟอร์ ไมเกรชัน อีโคโนมิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานในสิงคโปร์ กล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสิงคโปร์ ระบุว่า นับจนถึงเดือนธ.ค.ปี 2563 จำนวนแรงงานอพยพที่ทำงานตามไซต์ก่อสร้าง อู่ต่อเรือและโรงงานผลิตด้านอุตสาหกรรมต่างๆในสิงคโปร์ปรับตัวร่วงลง 16% เหลือ 311,000 คน ขณะที่แรงงานต่างชาติโดยรวมมีจำนวน 1.23 ล้านคนลดลง 14% ในจำนวนนี้รวมถึงพนักงานประเภทใช้แรงงานและพนักงานประจำออฟฟิศ

จริงๆแล้วสิงคโปร์ถือว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในหมู่แรงงานอพยพ โดยทางการสิงคโปร์ใช้ 3 แนวทางหลักคือ เก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัว สำรวจพฤติกรรมของแรงงานข้ามชาติอย่างละเอียด เช่น ไปที่ไหน ไปกับใคร และมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะประโยชน์ในการติดตามและสืบสวนโรค และสุดท้ายคือจำกัดพื้นที่การระบาด พร้อมดูแลแรงงานข้ามชาติหาสิ่งอำนวยความสะดวก และตรวจหาเชื้อเป็นประจำ

รัฐบาลสิงคโปร์จำกัดพื้นที่และการเดินทางให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดกักตัวอยู่ในหอพักแรงงาน รวมทั้งพยายามแยกผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ไม่ติดเชื้อออกจากกัน เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด

แม้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (เอ็มทีไอ) ยังคงคาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี2564 ของประเทศว่าจะขยายตัว 4-6% แม้กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่เท่ากันขณะที่ภาคการผลิต และการค้าปลีก จะขยายตัวจากความต้องการจากต่างประเทศ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้องกับการบิน จะยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งเตือนว่าภาวะขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่กำลังเกิดขึ้นในสิงคโปร์ตอนนี้ อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้า

ปัญหาขาดแคลนแรงงานเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะสิงคโปร์ประเทศเดียว แม้แต่เวียดนามเองก็อาจมีปัญหาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยเวียดนามซึ่งมีแผนส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 500,000 คนในระยะเวลา 5ปี จนถึงปี 2568 อาจจะทำไม่ได้ตามเป้า เพราะมาตรการคุมเข้มการเข้า-ออกชายแดนของประเทศจุดหมายปลายทางสำคัญๆ อย่างญี่ปุ่น