ครม.ไฟเขียวดึงเงินจ้างแรงงานใหม่คืน 1.6 หมื่นล้านบาท

ครม.ไฟเขียวดึงเงินจ้างแรงงานใหม่คืน 1.6 หมื่นล้านบาท

ครม.ไฟเขียวดึง 1.6 หมื่นล้านจ้างงานใหม่ กลับหลังคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ชงปรับรายละเอียดโครงการใหม่ เพราะไม่เป็นไปตามเป้า ลดจำนวนจ้างแรงงานสำหรับผู้จบใหม่ลงจาก 2.1 แสนคน เหลือ 5 หมื่นคน และลดกรอบวงเงินจาก 1.9 หมื่นล้าน เหลือ 3,209 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการลงจากเดิม 2.6 แสนคน เหลือ 5 หมื่นคน หรือลดลง 2.1 แสนคน และปรับลดกรอบวงเงินโครงการจากเดิม 19,462 ล้านบาท เหลือ 3,209 ล้านบาท หรือลดลง 16,252 ล้านบาทพร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงแรงงานกำกับการดำเนินงานให้เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

ทั้งนี้กรมการจัดหา ชี้แจงข้อมูลว่า ที่ผ่านมาพบว่าโครงการนี้มีอุปสรรคที่ทำให้มีการจ้างงานต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งช่วงเวลาในการดำเนินโครงการไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาสำเร็จการศึกษาของสถาบันต่าง ๆ เช่นเดียวกับตำแหน่งงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน การกำหนดเงื่อนไขให้มีการรายงานข้อมูลการจ้างงาน ทำให้แรงงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินค่าจ้างล่าช้า และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและไม่ต้องการจ้างงานเพิ่ม

                   สำหรับความเหมาะสมของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ลดลงเหลือ 5 หมื่นคนนั้น ประมาณการว่า หลังจากกรมการจัดหางานได้ปรับปรุงเงื่อนไขแล้ว ทำให้มีคนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นวันละ 200 – 500 คน จึงคาดว่า ในระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่พ.ค. – ก.ย. 64 จะสามารถจ้างงานได้ตามเป้าหมาย

                    ส่วนวงเงินของโครงการนั้น จะใช้วงเงินค่าจ้างแรงงานระดับปริญญาตรีเป็นฐานในการคำนวณ คือ คนละ 7,500 บาทต่อคน ซึ่งการปรับวงเงินโครงการลงครั้งนี้ยังทำให้กรอบวงเงินคงเหลือตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 166,524 ล้านบาท เป็น 182,776 ล้านบาท

             อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ ได้สอบถามกรมการจัดหางานว่าได้มีการดำเนินการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการในระยะต่อไปให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่

                ซึ่ง กรมการจัดหางาน ยืนยันว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ มีความต้องการจ้างงานใหม่ 89,377 อัตรา ในขณะที่มีแรงงานลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 64,022 คน จึงคาดว่าจะมีประเภทตำแหน่งงานที่หลากหลาย และเพียงพอต่อจำนวนแรงงานที่มาลงทะเบียนร่วมโครงการ