'กรมสรรพากร' ชวนรู้วิธี 'ขอคืนภาษี' เช็คให้ดีก่อนพลาดเงินคืน

'กรมสรรพากร' ชวนรู้วิธี 'ขอคืนภาษี' เช็คให้ดีก่อนพลาดเงินคืน

"กรมสรรพากร" ชวนรู้ขั้นตอนตรวจสอบ "ขอคืนภาษี" ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถเข้าไปเช็คเองได้ง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์ ใคร "ยื่นภาษี" เรียบร้อยแล้วรีบเช็คเงินคืนด่วน

หลังจากที่ช่วงปลายเดือน ม.ค.64 ที่ผ่านมา ทาง "กรมสรรพากร" ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการยื่นแบบภาษีฯ ว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91) จากเดิมที่ต้องยื่นแบบฯ ภายในเดือน มี.ค.64 ให้ขยายเวลายื่นแบบฯ ออกไปอีก ภายใน 30 มิ.ย.64 เฉพาะแบบที่ยื่นทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเท่านั้น เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น

นอกจากการยื่นแบบภาษีแล้ว สิ่งต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การ "ขอคืนภาษี" แล้วผู้ที่จะขอคืนภาษีได้ ต้องอยู่ในเงื่อนไขแบบไหน? และมีวิธีการขอคืนภาษียังไงบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ หาคำตอบมาให้ดังนี้

1. "ขอคืนภาษี" เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถทำได้

มีข้อมูลจาก ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร เคยอธิบายเอาไว้ในบทความด้านภาษี ระบุว่า การขอเงินคืนภาษีนั้น เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถทำได้ หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่าค่าภาษีที่ตัวเองมีหน้าที่ต้องจ่ายจริง 

โดยวิธีการขอเงินคืนภาษี ทำได้โดยเริ่มจากคำนวณภาษีแล้วพบว่า ตนเองมีสิทธิได้เงินคืนภาษี จากนั้นผู้เสียภาษีต้องทำการ “ยื่นภาษี” เพื่อ “ขอเงินคืนภาษี” ตามขั้นตอนของกรมสรรพากร ส่วนวิธีการคำนวณภาษี ดูได้จากคลิป "ปณิดคิดเงิน" ข้างล่างนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. ช่วงเวลาการ "ขอคืนภาษี" ต้องทำเมื่อไหร่?

สำหรับช่วงเวลาในการ "ขอคืนภาษี" จาก "กรมสรรพากร" แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

- การขอคืนภาษีขณะที่ยังไม่หมดเวลายื่นภาษี : กรมสรรพากรมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นแบบฯ หรือวันที่ยื่นเอกสารประกอบการขอเงินคืนภาษีเพิ่มเติม

การขอคืนภาษีหลังหมดเวลายื่นภาษี : ในกรณีที่จ่ายภาษีไว้เกินกว่าที่ตัวเองมีหน้าที่ แล้วมานึกได้ที่หลังก็ยังสามารถขอเงินภาษีที่จ่ายเกินนั้นได้โดยการยื่นภาษี (หรือยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง) แต่ต้องรีบขอคืนภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี

*หมายเหตุ : โดยปกติแล้วหากไม่มีข้อสงสัยใดๆ กรมสรรพากรจะอนุมัติเงินคืนภาษีให้ทันที แต่หากมีเหตุสงสัยบางประการ เจ้าหน้าที่อาจขอให้ส่งหลักฐานประกอบด้วย เช่น หลักฐานการบริจาคเงิน เป็นต้น

162081644635

3. ขั้นตอนการตรวจสอบ "ขอคืนภาษี"

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร
  • กดเลือกเมนู "สอบถามการคืนภาษี"

162081253029

  • หน้าจอจะเข้าสู่ บริการสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี หรือคลิก >> refundedcheque.rd.go.th
  • จากนั้นให้กรอกข้อมูล ปีภาษี, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, ชื่อ-สกุล แล้วคลิกปุ่ม "สอบถาม"
  • หน้าจอแสดงผลการตรวจสอบข้อมูลขอคืนภาษี (หากได้เงินคืนภาษี จะมีข้อความระบุว่า “กรมสรรพากรได้นำเงินคืนภาษีเข้าบัญชี XXX แล้ว เมื่อวันที่ xx/xx/xxxx”)

162081253039

4. "กรมสรรพากร" คืนเงินภาษีล่าช้า คิดดอกเบี้ยได้!

นอกจากนี้ หากพบเจอกรณี "กรมสรรพากร" คืนภาษีให้ล่าช้า ประชาชนมีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ย ในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป

5. ช่องทางการรับ "เงินคืนภาษี"

เมื่อยื่นภาษีแล้ว และกรมสรรพากรได้อนุมัติเงินคืนภาษีเรียบร้อยแล้ว ประชาชนสามารถเลือกช่องทางรับเงินคืนภาษีได้ 3 ช่องทาง ได้แก่

  • พร้อมเพย์ ที่ผูกกับบัญชีธนาคารออนไลน์
  • รับเงินคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส.
  • รับเงินคืนภาษีเข้าบัตร e-Money หรือ e-Wallet (แอพฯ เป๋าตัง) เฉพาะธนาคารกรุงไทย

*หมายเหตุ : กรมสรรพากรได้ "ยกเลิก" การส่งเช็คคืนเงินภาษีทางไปรษณีย์แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยจะคืนเงินภาษีในช่องทางอื่นๆ แทน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์ในการคืนเงินภาษีมากกว่า 70% 

6. ช่องทางสอบถาม "ขอคืนภาษี" 

ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะคืนเงินภาษี หรือสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ได้ตามช่องทางต่างๆ ของกรมสรรพากร ดังนี้

  • เว็บไซต์ "กรมสรรพากร" www.rd.go.th/272 จากนั้นเลือกที่เมนู "สอบถามการคืนภาษี"
  • ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร โทร. 1161
  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามการยื่นแบบฯ  

------------------------------

อ้างอิง : กรมสรรพากรการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91itax.in.th