'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐใช้เงินกู้ 5 แสนล้านคุ้มค่า เพิ่มงบฯสาธารณสุข – ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐใช้เงินกู้ 5 แสนล้านคุ้มค่า เพิ่มงบฯสาธารณสุข – ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐใช้เงินกู้ 5 แสนล้านคุ้มค่า เพิ่มความพร้อมเรื่องสาธารณสุข ระบบคัดกรอง สืบสวนโรคให้มากขึ้นรองรับเวฟ4 จัดสรรงบเยียวยา-ฟื้นฟูตาม แนะให้ความสำคัญปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ "สมชัย" ย้ำอย่าใช้เงินผิดพลาดซ้ำรอยเงินกู้ 1 ล้านล้านรอบที่ผ่านมา

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินรวม 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลว่าในการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งเป็นการกู้เงินใหม่อีกก้อนควรมีการวางแผนการใช้เงินกู้อย่างรอบครอบไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา

ในส่วนของเงินกู้ 5 แสนล้านบาท แบ่งการใช้จ่ายออกเป็น 3 แผนงาน/โครงการ โดยในส่วนของการจัดสรรเงินกู้เรื่องสาธารณสุขซึ่งครั้งก่อนมีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และครั้งนี้มีวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทซึ่งต้องถามว่าเพียงพอหรือไม่ และมีการวางแผนใช้เงินในส่วนนี้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ ซึ่งในครั้งที่ผ่านมาการใช้เงินกู้ในส่วนนี้ใช้น้อยเกินไปโดยเฉพาะเงินที่จะใช้ลงไปในส่วนของทีมการสืบสวนโรคเชิงรุกที่จะตรวจหาและแยกแยะผู้ป่วยโควิดในชุมชนซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อน ทำให้เกิดการระบาดจำนวนมากและตัวเลขยังไม่ลดลงในขณะนี้

โดยในส่วนของข้อเสนอการใช้เงินกู้ฯในส่วนของแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุขรัฐบาลจะต้องมองไปข้างหน้าโดยเตรียมการสำหรัสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นของการแพร่ระบาดเรียกว่าหากเกิดการระบาดในระลอกใหม่แล้วมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ระบบสาธารณสุขต้องสามารถที่จะรองรับได้ ซึ่งหมายถึงความพร้อมของเครื่องมือ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เงินส่วนนี้ไปในเรื่องของการคัดกรองสืบสวนโรคเชิงรุกเพื่อแยกผู้ป่วยออกมาเพื่อแยกรักษาและกักตัวเพื่อลดการแพร่ระบาดในชุมชนไม่ให้มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆเกิดขึ้นอีก

“เงินกู้ฯในเรื่องสาธารณสุขควรใช้ให้มากคือไม่ควรเขียมในส่วนนี้ รัฐบาลต้องใช้เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรียกว่า prepare for the worth สมมุติว่าเกิดเวฟที่ 4 -5แล้วมีผู้ติดเชื้อวันละหมื่นคนก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ในระดับนั้นเพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆจะได้สามารถรับมือได้”

ในส่วนของการใช้เงินกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมาสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้วคือเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาซึ่งในแนวทางใหญ่ๆเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการบริโภคซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่ก็คงจะมีการใช้เงินไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อประคองเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้แต่สิ่งที่ควรคิดให้ละเอียดมากขึ้น เพราะในครั้งนี้การระบาดรุนแรงขึ้นแต่คนที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ได้เป็นวงกว้างเหมือนครั้งแรกเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างยังเดินไปได้ในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาจึงควรดูให้ละเอียดว่าควรให้กลุ่มไหนและดูถึงความจำเป็นในการเยียวยาระยะสั้น

ขณะเดียวก็คือการเยียวยาบางอย่างก็สามารถทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยเพราะมีบางกลุ่มอาชีพและบางธุริจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาเป็นเวลานาน เช่น ภาคการท่องเที่ยว พอมาเจอระลอกที่ 3 ทำให้ทรุดลงไปมากซึ่งในกลุ่มนี้นอกจากต้องการเงินช่วยเหลือระยะสั้นยังต้องคิดในเรื่องการปรับทักษะให้มีความพร้อมในกรณีที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพไปประกอบอาชีพอื่นๆ

นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่าในส่วนของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งเมื่อครั้งที่ผ่านมาถือว่ามีปัญหามากในการจัดสรรเงินให้กับโครงการต่างๆซึ่งดูแล้วอาจจะวางแผนไม่ดีเพราะเม็ดเงินค่อนข้างกระจัดกระจายซึ่งไม่ควรมีภาพในลักษณะนั้นอีกในการอนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่นี้

ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มากขึ้น ให้ประชาชนและเอกชนเป็นตัวนำในการนำเสนอซึ่งจะช่วยให้มุมมองและความจำเป็นของโครงการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีกว่าและสามารถเป็นโครงการที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยได้ โดยมีภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งจะช่วยให้ได้โครงการที่ตรงกับความต้องการของสังคมมากกว่า

162279104962

“ข้อเสนอแนะในการใช้เงินกู้เพื่อรับมือกับโควิดที่มีการออก พ.ร.ก.รอบใหม่ 5 แสนล้านก็คืออย่าให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ในรอบที่ผ่านมามีความผิดพลาดอยู่หลายจุด โดยโครงการที่จะออกมานอกจากดูการเยียวยาผลกระทบในระยะสั้นต้องดูเรื่องการเยียวยาผลกระทบในระยะยาวอย่างที่บอกกันว่าหลายส่วนมีบาดแผลจากวิกฤติก็ต้องดูว่าจะปรับโครงสร้างยังไงให้สามารถอยู่ได้ในระยะต่อไป ขณะเดียวกันลักษณะการเขียนกฎหมายก็ไม่ควรให้มีการผูกมัดอะไรมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคในการใช้เงินซึ่งแบบนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”นายสมชัยกล่าว