‘กาแฟดำ x นมข้นหวาน’ ย้อนอดีตวันวาน...จากอาเซียนถึงสเปน

‘กาแฟดำ x นมข้นหวาน’ ย้อนอดีตวันวาน...จากอาเซียนถึงสเปน

เปิดตำนาน “กาแฟโบราณ” สูตรกาแฟ + นมข้นหวาน ความหวานขมหอมกรุ่นที่ไม่ได้แค่อยู่คู่คอกาแฟไทย แต่มีประวัติศาสตร์ยาวไกลระดับโลก

ถ้าเป็นคอกาแฟรุ่นเก๋าที่ชอบหวานๆ ละก็ น่าจะรู้จักเมนูตัวหนึ่งที่ดื่มกันมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปี นั่นก็คือ "กาแฟดำใส่นมข้นหวาน" ทั้งสูตรร้อนและสูตรเย็น ซึ่งครั้งหนึ่งจัดว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมระดับตำนานทีเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งบ้านเรา และบางส่วนของยุโรปอย่างสเปน ก่อนกระจายความชื่นชอบออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกา ค่อนข้างนิยมชมชอบกาแฟนมสไตล์นี้ไม่น้อย แล้วชื่อเรียกก็มีกันมากมายหลายนาม นับเป็นกาแฟสุดคลาสสิคอีกเมนูหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

แม้ว่าส่วนผสมและวิธีการชงสูตร “กาแฟดำใส่นมข้นหวาน” ในภูมิภาคต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะมีความใกล้เคียงกัน ทว่ากลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งความหลากหลายตรงนี้นี่เอง ถือว่ามีคุณค่าในหน้าประวัติศาสตร์กาแฟโลก สมควรนำมาเล่าสู่กันฟังหลายๆ รอบ

เมนูกาแฟสูตรนี้ที่ให้รสชาติแบบ เข้มข้น หอมมัน หวานชื่นใจ มีส่วนผสมของกาแฟดำที่เข้มข้นกับนมข้นหวาน (sweetened condensed milk) ที่ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมน้อยลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ตามร้านรวงคาเฟ่หรือบาร์กาแฟยุคใหม่สไตล์อินดี้ในตัวเมือง แทบไม่บรรจุเป็นเมนูประจำร้าน ส่วนใหญ่มักพบเห็นตามร้านกาแฟของชุมชนท้องถิ่นที่มักขายชา/กาแฟเป็นเครื่องดื่มคู่กับอาหาร  ที่พากันเรียกขานในบ้านเราว่า "ร้านกาแฟโบราณ"  

162164627412

"ร้านกาแฟท่าเรือส่ง" เมืองสุพรรณบุรี ผู้เขียนขับรถไปนั่งดื่มกาแฟเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

ผู้เขียนเองเติบโตในต่างจังหวัดแถบภาคตะวันออก ในหมู่บ้านที่อาศัยเป็นถิ่นเกิดก็มีร้านกาแฟประจำหมู่บ้านอยู่ร้านหนึ่ง มีลูกค้าแวะเวียนมานั่งจิบกาแฟสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตั้งแต่เช้ามิได้ขาด แต่ละโต๊ะก็จะมีปาท่องโก๋ 3-4 ตัววางใส่จานอยู่เป็นเครื่องเคียงกาแฟ พร้อมชาร้อนป้านใหญ่ไว้จิบล้างคอ

"อาแปะ" ที่ชงชากาแฟก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พูดไทยไม่ค่อยชัด ฟังไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่พอมีลูกค้ามาสั่งกาแฟดื่ม ไม่ว่าจะเป็นโอเลี้ยง, โอยั๊ว, ยกล้อ, ชาร้อน, ชาเย็น ฯลฯ แล้วตามด้วยคำพูดที่ว่า ขอ "หวานหวาน" หรือ "หวานน้อย" อาแปะก็ชงได้ถูกต้องตามออเดอร์จนเป็นที่ถูกใจถูกปากลูกค้าทุกครั้งไป

"กาแฟเย็นใส่นม" เป็นเมนูกาแฟตัวแรกที่ผู้เขียนดื่มและชื่นชอบในรสชาติหอมหวานมันมากๆ แล้วก็ชอบไปยืนมองอาแปะชงชา/กาแฟเป็นประจำ พร้อมกับสูดดมกลิ่นกาแฟคั่วแบบโบราณที่หอมกรุ่มไปด้วย ส่วน "โอเลี้ยง" หรือกาแฟดำใส่น้ำตาลทราย ชอบดื่มรองลงมา

กาแฟดำเพียวๆ แบบไม่เติมหวานที่เรียกกันว่า "โอยั๊ว" ออกจะขมหนักเกินไปสำหรับผู้เขียนในสมัยนั้น

"ยกล้อ" ซึ่งเป็นกาแฟดำใส่นมข้นจืดนั้น ไม่ค่อยได้ดื่มนัก เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมจากคอกาแฟในหมู่บ้าน

ตอนชงกาแฟเย็นใส่นมนั้น อาแปะจะหยิบอุปกรณ์ชงที่มีขอบวงกลมและด้ามจับเป็นสเตนเลสซึ่งเย็บติดด้วยผ้าขาวบางและยาวย้วย มาวางลงในกระป๋องกาแฟ จากนั้นก็ตักผงกาแฟประมาณ 3-4 ช้อนใส่ลงไปในถุงชง แล้วใช้กระบวยด้ามยาว ตักน้ำร้อนเดือดพล่านในหม้อ เทลงใส่ผงกาแฟในถุงชง พร้อมกับเทขึ้นๆลงๆ มีเขย่าบ้างเป็นบางจังหวะ เพื่อให้น้ำร้อนสกัดผงกาแฟออกกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็รินลงสู่แก้วที่มีนมข้นหวานนอนรออยู่ก้นแก้ว ถ้าเป็นสูตรกาแฟร้อนใส่นมก็จบเท่านี้

หากเป็นกาแฟเย็น อาแปะจะหยิบช้อนมาคนกาแฟกับนมข้นหวานในแก้วแบบรัวๆ เร็วๆ แล้วจึงยกขึ้นเทลงสู่แก้วอีกใบที่ใส่น้ำแข็งไว้เต็ม ตามด้วยรินนมข้นจืดลงไปบนหน้าแก้ว ถือเป็นอันเสร็จสรรพ บางทีซื้อกลับบ้าน อาแปะก็ใช้กระป๋องนมนั่นแหละเป็นภาชนะใส่กาแฟ ใช้เชือกฟางร้อยติดกับรูกระป๋อง ทำเป็นหูหิ้ว นึกแล้วได้กลิ่นอาย “ย้อนยุค” ดีแท้ๆ จนอยากจิบขึ้นมาจริงๆ ขณะพิมพ์บทความนี้อยู่

"การคั่วกาแฟโบราณ" นั้น นิยมใส่เนยกับน้ำตาลทรายลงไประหว่างขั้นตอนการคั่ว  เข้าใจว่านำวิธีถนอมอาหารมาประยุกต์ใช้กับเมล็ดกาแฟ เนื่องจากปัญหาด้านการขนส่ง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมล็ดกาแฟขาดแคลน และมีราคาแพง สายพันธุ์กาแฟที่ใช้ก็ผสมผสานกันทั้งโรบัสต้าและอาราบิก้า ซึ่งรูปแบบการคั่วกาแฟโบราณนี้เป็นวิธีที่แตกต่างไปจากการคั่วกาแฟสดในปัจจุบันที่ไม่ใส่ส่วนผสมอะไรลงไป

ร้านกาแฟโบราณในบ้านเรา หลายๆ ร้านเปิดมาอย่างยาวนาน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น  บางร้านก็กลายเป็นระดับตำนานไปแล้ว ได้รับความนิยมทั้งจากความคลาสสิคของบรรยากาศในร้านและรสชาติหวานมันของกาแฟ แต่แล้วความนิยมในกาแฟโบราณเริ่มลดน้อยลงไป จากกระแสโถมถั่งเข้ามาอย่างรวดเร็วของกาแฟอีกสไตล์ที่เรียกว่า "กาแฟสด" หรือ "กาแฟฝรั่ง"  จนกาแฟโบราณแทบถูกลืมเลือนไป

ทว่าในระยะหลังๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง กระแส "ย้อนยุค" ย้อนอดีตที่มาแรง ส่งผลให้ร้านกาแฟโบราณในสัมผัสแห่งวันวาน เริ่มกลับมาได้รับความนิยมได้อีกครั้ง ผู้คนเริ่มชักชวนกันไปดื่มด่ำความหวานแห่งอดีตของรสชาติกาแฟโบราณ พร้อมถ่ายภาพโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่เป็นร้านเก่าแก่สืบทอดกิจการกันมาหลายรุ่น อายุก็ร่วมร้อยปี ถึงกับมีการ “จัดเรทติ้ง” กันบนเว็บไซต์หลายแห่ง รีวิวกันอย่างคึกคัก พร้อมปักหมุดชี้เป้าหมายตำแหน่งที่ตั้งของร้าน เป็นที่ถูกอกถูกใจคอกาแฟรุ่นเก๋าเป็นยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม ความเก่าแก่ หรือโบราณ หรือออริจินัล หรือคลาสสิค แล้วแต่จะเรียกกันของสูตรกาแฟดำใส่นมข้นหวานนี้ ในหลายๆ ประเทศกลับยังคงได้รับความนิยมตามร้านกาแฟทั่วไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และไม่เสื่อมคลาย

อย่างในประเทศ "สเปน" กาแฟดำใส่นมข้นหวานถึงกับเป็นเมนูดังระดับซิกเนเจอร์ของ "แคว้นบาเลนเซีย" เมืองท่องเที่ยวที่มีชายฝั่งติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยาวกว่า 500 กิโลเมตร กันเลยทีเดียว เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า "Cafe Bombon" เป็นเมนูที่มีชื่อเสียงรู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงกาแฟทั่วโลก

162164605713

"คาเฟ่ บอมบอน" จากร้านกาแฟ delicotte ในสเปน / ภาพ : instagram.com/delicotte

"คาเฟ่ บอมบอน" หรือ Cafe Bombon ตามบันทึกปูมกาแฟระบุว่า มีต้นกำเนิดจากแคว้นบาเลนเซียนั่นเอง ก่อนแพร่ออกไปทั่วสเปน และยุโรปบางพื้นที่ ก่อนแพร่เข้าไปในทวีปอเมริกา โดยคำว่า Bombon ในภาษาสเปน แปลว่า "ขนมหวาน" ตั้งชื่อความรสชาติหวานๆ มันของเครื่องดื่ม เป็นสูตรกาแฟดำใส่นมข้นหวานเหมือนกาแฟโบราณบ้านเราและในอีกหลายประเทศ เพียงแต่วิธีการเตรียมกาแฟไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

เนื่องจากคาเฟ่ บอมบอน จะใช้ "เอสเพรสโซ" กาแฟดำเข้มข้นที่มีครีมาสีน้ำตาลลอยอยู่ด้านบน ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะชงด้วยวิธี “ดริปด้วยถุงผ้า” อย่างในร้าน "โกปี้เตี่ยม"

ผู้เขียนให้นึกสงสัยและแปลกใจอยู่คร้ามครันว่า เหตุไฉนในสเปน จึงนำนมข้นหวานมาผสมลงในกาแฟเป็นเครื่องดื่ม แล้วก็ได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ จนกาลเวลานำพาไปให้เป็นเครื่องดื่มอันโด่งดังของประเทศ ทั้งๆ ที่เมืองกาแฟของโลกที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิตาลี, ออสเตรีย ฝรั่งเศส หรือกระทั่งเยอรมนี เลือกใช้ "นมสด" ในการดื่มคู่กับกาแฟ แล้วก็ไม่มีประเทศไหนในยุโรปที่สูตรกาแฟใส่นมข้นหวาน ได้รับความนิยมสูงถึงขนาดขึ้นเป็นเมนูเด่นประจำร้าน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การใส่นมข้นหวานในกาแฟเอสเพรสโซนั้นตามสไตล์สเปนนั้น เป็นผลพวงจากรสชาติอัน "ขมลึกจัด" ของกาแฟเอสเพรสโซที่ด้วยเมล็ดกาแฟคั่วที่เรียกว่า ทอร์เรฟัคโต้ (Torrefacto) ซึ่งเมล็ดกาแฟคั่วรูปแบบนี้ เป็นวิธีการคั่วกาแฟในระดับคั่วเข้มหรือลึกมากๆ จนแทบไหม้ ตามแบบดั้งเดิมของสเปนที่ทำกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 โดยระหว่างการคั่วมีการใส่น้ำตาลทรายลงไปด้วยเพื่อช่วยรักษาอายุของเมล็ดกาแฟให้นานขึ้น

รสชาติจากเมล็ดกาแฟทอร์เรฟัคโต้นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องขมฝาดบาดคอมากๆ เชื่อว่า "นมสด" หรือ "น้ำตาลทราย" น่าจะเอาไม่อยู่ จึงมีคนคิดนำนมข้นหวานที่หวานบาดคอเช่นกันมาเติมเพื่อลดความขมของกาแฟเอสเพรสโซลง อาจเริ่มที่แคว้นบาเลนเซียเป็นจุดแรก ก่อนแพร่ออกไปทั่วสเปนในที่สุด...นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ไม่มีบันทึกไว้ในตำราเล่มไหนนะครับ

162164610378

แคว้นบาเลนเซีย ใช้เอสเพรสโซชง"คาเฟ่ บอมบอน" / ภาพ : Chase Eggenberger on Unsplash

สำหรับสูตรของ "คาเฟ่ บอมบอน" นั้น มีสัดส่วน 1 : 1 เท่ากันระหว่าง "เอสเพรสโซ" กับ "นมข้นหวาน" แล้วก็นิยมเสิร์ฟในแก้วใสขนาด 2-3 ออนซ์  ไซส์เท่ากับแก้วเอสเพรสโซ เพื่อให้เห็นเลเยอร์หรือช่วงชั้นที่ตัดกันระหว่างสีขาวและดำของเครื่องดื่ม ตามร้านกาแฟจะเสิร์ฟมาในลักษณะนี้ เพื่อให้ลูกค้าใช้ช้อนค่อยๆ คนกาแฟกับนมผสมเข้าด้วยกัน พร้อมกับสูดกลิ่นหอมที่พวยพุ่งออกมาของกาแฟ ก่อนยกแก้วขึ้นจิบรสชาติความหอมมัน

ถ้าเป็นตามบ้านเรือนคอกาแฟในสมัยก่อนยุคที่ยังไม่มีการผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซขนาดเล็กเหมือนปัจจุบันแล้ว เขาจะใช้หมอต้มกาแฟแบบ "มอคค่า พ็อต" กัน เรียกว่าสเปนนั้นรับวัฒนธรรมกาแฟสายอิตาลีมาแบบเต็มตัวเลยทีเดียว ส่วนถ้าเป็นในยุคสมัยนี้ก็มีอุปกรณ์หรือเครื่องชงหลายชนิดที่สามารถผลิตกาแฟในสไตล์ที่ใกล้เคียงกับเอสเพรสโซได้ดีทีเดียว

แต่จะว่าไป...นอกจากความต่างของกาแฟที่ใช้แล้ว สไตล์การชงก็ต่างกันออกไปด้วย ในการชงแบบดั้งเดิมของบาเลนเซีย เมื่อได้เอสเพรสโซมาหนึ่งช้อต จึงค่อยๆ เทนมข้นหวานลงไป โดยวิธีเทนั้น ก็จะเจาะกระป๋องนมเป็นรูเล็กๆ แล้วยกขึ้นสูงเหนือแก้วพอควร เพื่อให้เส้นสายของนมไหลลงสู่แก้วเอสเพรสโซอย่างช้าๆ ส่วนของเอเชีย นิยมใส่นมข้นหวานลงนอนในแก้วเป็นอันดับแรก ตามด้วยกาแฟดำ สัดส่วนนมก็ไม่ตายตัวด้วย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ดื่มชอบหวานมากหรือหวานน้อย

เว็บไซต์กาแฟบางเว็บ ให้ข้อมูลประมาณว่า คาเฟ่บอมบอน อาจถูกนำไปปรับแต่งใหม่หรือ "จูนรสชาติ" ให้เข้ากับรสนิยมของคนยุโรปอื่นๆ และชาวเอเชียด้วย คล้ายๆ จะบอกเป็นนัยว่า กาแฟโบราณของเอเชียตะวันเฉียงใต้ที่ดื่มกันมานมนานนั้นได้รับ “อิทธิพล” มาจากสเปน แต่เป็นเพียงคำกล่าวลอยๆ ไม่มีข้อมูลหรือบันทึกใดๆ มาประกอบ จึงขาดความน่าเชื่อถือไป

ในมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บอร์เนียว, บรูไน และภาคใต้ของไทย กาแฟดำใส่นมข้นหวานแบบนอนก้นอยู่ด้านล่าง มีดื่มกันมานานแล้ว เรียกกันรวมๆ ว่า "โกปี๊" (Kopi) มาจากคำว่า Coffee สำเนียงภาคใต้บ้านเราออกเสียงว่า โกปิ๊ /โกปี้ หรือโกปี ตามแต่ท้องถิ่นนั้นๆ บางพื้นที่ก็เติมน้ำตาลทรายแซมลงไปด้วย

แต่ถ้าเป็น โกปี๊ออ/ โกปี๊โอว หรือ โกปี๊โอ  คือกาแฟดำร้อนไม่ใส่นม เมล็ดกาแฟที่คั่วใช้กันก็ใส่เนยหรือน้ำตาลทรายลงไปด้วย กาแฟโบราณสไตล์นี้หาดื่มได้ตามร้านกาแฟแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า "โกปี้เตี่ยม" อันเป็นรากวัฒนธรรมกาแฟร่วมในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

162164614798

กาแฟเย็นใส่นมในสไตล์ของอาเซียน

ช่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษเป็นผู้นำกาแฟเข้าสู่มาเลเซีย แล้วคนจีนเชื้อสายมลายูที่นี่ก็ชอบกาแฟเข้มข้นและหวานในแก้วเดียวกัน จึงเริ่มใช้นมข้นหวานใส่ลงไปในแก้ว ตามด้วยกาแฟดำ ส่วนใน "อิโปห์" (Ipoh) เมืองเล็กๆ แต่เปี่ยมมนต์เสน่ห์ในรัฐเปรัคของมาเลเซีย มีกาแฟยอดนิยมตัวหนึ่งชื่อว่า "กาแฟขาว" (White coffee) สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เนื่องจากเมล็ดกาแฟถูกนำมาคั่วไฟพร้อมกับเนยเทียมที่ทำจากน้ำมันปาล์ม เสิร์ฟพร้อมนมข้นหวาน

ในเวียดนามนั้น ปรากฎว่า มีการทำไร่กาแฟกันมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1857 นำเข้ามาโดยคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส กลายเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลก และติดอันดับต้นๆ ในฐานะชาติผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ เมนูที่นิยมดื่มกันมากในประเทศนี้จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันก็เป็นกาแฟดำใส่นมข้นหวาน ชื่อว่า "กาแฟหยดเวียดนาม" ที่มีอุปกรณ์ชงเป็นถ้วยกรองเจาะรูแบบกาแฟดริป ให้รสชาติที่เข้มข้น หวานมัน และกลมกล่อม อร่อยได้ทั้งสูตรร้อนและเย็น

162164619827

กาแฟหยดแบบเวียดนาม ได้รับความนิยมเช่นกัน

ด้วยความที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมเพิ่งตั้งไข่ในช่วงเวลานั้น ทำให้ขาดแคลนนมสด ชาวเวียดนามและคนฝรั่งเศสในประเทศจึงเริ่มใช้นมข้นหวานเติมลงไปในกาแฟดำที่คั่วเข้ม

ผู้ใดครองสื่อ ผู้นั้นครองโลก...ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังๆ โดยเฉพาะในอินสตาแกรมและยูทูบนั้น "คาเฟ่ บอมบอน" แทบจะเรียกว่าเป็นตัวแทนของกาแฟดำใส่นมข้นหวานไปเสียแล้ว เพราะมีการโพสต์ภาพและวิธีทำกันมากมาย เข้าใจว่าน่าเป็นเรื่องของกลุ่มคนใช้ภาษาอังกฤษที่รู้จักกันแต่กาแฟดำผสมนมข้นหวานจากสเปนมากกว่าอื่นใด แล้วภาษาอังกฤษก็ถูกใช้เป็นภาษากลางทั่วโลกเสียด้วย ทำให้คาเฟ่ บอมบอน เป็นที่รับรู้กันมากกว่ากาแฟโบราณดั้งเดิมของชาวอาเซียน

จากรอยอดีตสู่ยุคสมัยปัจจุบัน...คาเฟ่ บอมบอน ที่เห็นโพสต์ภาพกันเยอะมี 2 แบบ คือ แบบ "คลาสสิค" ที่มีเฉพาะเอสเพรสโซกับนมข้นหวาน กับแบบ "ต่อยอด" เรียกว่า frothy cafe bombon มีการนำโฟมนมสดที่ผ่านการสตีมหรือวิปครีม ไปโปะหน้าบนครีม่าของเอสเพรสโซอีกที สร้างเป็นเลเยอร์ 3 ชั้นด้วยกัน ส่วนโฟมนมจะสูงมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับการดีไซน์ของผู้ชงหรือผู้ชำนาญการ

แล้วก็เป็นร้านกาแฟ "ยุคใหม่" ในละตินอเมริกา เช่น บราซิล, เวเนซูเอล่า และเอกวาดอร์ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาที่นำกาแฟคาเฟ่ บอมบอน มาปรับรูปโฉมใหม่ เพิ่มโฟมนมเข้าไป เอาใจคนชอบดื่มนมสดไปในตัว แล้วโรยหน้าด้วยผงโกโก้หรือช็อคโกแลต เสิร์ฟด้วยแก้ว "ค็อกเทล" ทำให้ดูไฉไลและหรูหราขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว

162164623189

"คาเฟ่ บอมบอน" หยอดหน้าด้วยวิปครีม จากร้านกาแฟในบราซิล / ภาพ : instagram.com/about.coffee.official.brazil/

สำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟรสขมเข้มอมหวาน และติดอกติดใจในรสชาติกาแฟโบราณ โดยเฉพาะรุ่นเก๋า ควรตระหนักถึงส่วนผสมในเครื่องดื่มกาแฟซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ "เบาหวาน" ได้เป็น "เบา"...ลด "น้ำตาล" ได้เป็น "ลด"...

อาหารหรือเครื่องดื่มที่พกเอาความหวานมันมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพ  แทบไม่ได้รับการต้อนรับในยุคที่กระแสใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมาแรงรอบโลก

ผลิตภัณฑ์อย่างนมข้นหวานก็หลีกหนีไม่พ้นเช่นกัน จนมีการผลิตนมข้นหวานสูตรเพื่อสุขภาพขึ้นมาใช้ทดแทน เช่น นมข้นไร้หวาน, นมข้นหวานสูตรไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์, นมข้นหวานปลอดน้ำตาล, นมข้นหวานทางเลือกอย่างนมมะพร้าวข้นหวานที่ใช้กะทิแทนนม และนมข้นหวานที่มีส่วนผสมของนมสดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีเลือกมากยี่ห้อหลายแบรนด์ในท้องตลาดบ้านเรา

จากอาเซียนถึงสเปน...กาแฟแต่ละเมนูรวมไปถึงกาแฟดำใส่นมข้นหวาน ไม่ว่าจะเรียกขานว่า “โกปี๊” หรือ “กาแฟโบราณ”  หรือ ”คาเฟ่ บอมบอน” ล้วนปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของผู้บริโภคเป็นสำคัญ