เช็คลิสต์เมกะโปรเจคติดหล่ม ทางด่วน – รถไฟ หยุดรอ MR-MAP

เช็คลิสต์เมกะโปรเจคติดหล่ม ทางด่วน – รถไฟ หยุดรอ MR-MAP

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ตามแผนพัฒนาของกระทรวงคมนาคม รวม 26 โครงการ วงเงินกว่า 1.12 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันก้าวเข้าสู่เดือน มิ.ย.ครึ่งปี 2564 หลายโครงการถูกขับเคลื่อนตามแผน และต้องยอมรับว่าอีกหลายโครงการยังติดหล่มจากสารพัดปัญหา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนลงทุนเมกะโปรเจค ของกระทรวงคมนาคม เมื่อต้นปี 2564 โดยระบุว่า โครงการเมกะโปรเจคมีโครงการที่ทยอยดำเนินการไปแล้ว 12 โครงการ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - สระบุรี – นครราชสีมา, มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

ส่วนโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการมี 8 โครงการ วงเงินรวม 3.69 แสนล้านบาท อาทิ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1.3 พันล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ รวมบริหารเดินรถ ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอ ครม. ในระยะต่อไป มีจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 8.13 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนนนท์ - บ้านแพ้ว วงเงิน 3.31 หมื่นล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.22 หมื่นล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 1.58 หมื่นล้านบาท และโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา วงเงิน 54 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้พยายามผลักดันโครงการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดีทุกโครงการที่เปิดประมูล และจะมีการลงนามสัญญาได้นั้น ต้องโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ ไม่เป็นความเสี่ยงในเรื่องค่าโง่ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยอมรับว่ามีหลายโครงการที่ยังติดปัญหาต่างๆ ทำให้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ ล่าช้าออกไปจากแผนงานเดิมที่วางไว้ อาทิ การลงนามสัญญาโครงการร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทั้งสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 6.1 หมื่นล้านบาท ที่ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งสาเหตุของความล่าช้า เกี่ยวเนื่องกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - นครราชสีมา ที่มีการปรับแก้แบบก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก วงเงินลงทุนรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ที่ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังเปิดประมูลไม่ครบทุกสัญญา หลังจากประกาศยกเลิกผลประมูลสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ไปเมื่อปลายปี 2563 เพราะมีกรณีการยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติของผู้ชนะการประมูล ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลใหม่ คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ภายในเดือน มิ.ย.นี้

อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ รวมบริหารเดินรถ ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ซึ่งอยู่ในแผนที่ต้องเร่งผลักดันในปี 2564 โดยปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมประกาศเปิดขายซองครั้งที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ติดปัญหาการฟ้องร้องของทางเอกชน ถึงการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขพิจารณาข้อเสนอ โดยภาพรวมถือว่าล่าช้าแล้วกว่า 1 ปี นับจากการเปิดขายซองครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2563

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันโครงการลงทุนเมกะโปรเจคใหม่ๆ ของกระทรวงฯ เช่น การลงทุนมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ยังไม่มีการขับเคลื่อนเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างศึกษา โครงการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เพื่อพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อน และบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้โครงการลงทุนใหม่ของมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ จะยังไม่ได้ผลักดันออกมาประมูล มีเพียงโครงการที่ผ่านการอนุมัติโดย ครม.ไปแล้ว ที่จะเดินหน้าตามกระบวนการ โดยสาเหตุที่ยังไม่ผลักดันการประมูล เพราะโครงการส่วนนี้ยังต้องรอผลการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP ที่จะศึกษาความเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้”

สำหรับแผนแม่บท MR – MAP เบื้องต้นจะนำร่อง 3 เส้นทางที่มีศักยภาพ ได้แก่

1. เส้นทาง MR 5 ชุมพร-ระนอง

2. เส้นทาง MR 8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) - แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง

3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี

162278662758

โดยเส้นทางพัฒนาตามแผนแม่บทดังกล่าว มีโครงการลงทุนมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ที่เกี่ยวเนื่อง อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาเพื่อผลักดันการประกวดราคา อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ชลบุรี-นครราชสีมา (แหลมฉบัง – ปราจีนบุรี ทล.359) วงเงินลงทุนราว 7 หมื่นล้าน, โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา – ระยอง 61 กิโลเมตร วงเงิน 9.3 พันล้านบาท และโครงการทางเดี่ยว และทางคู่สายใหม่ ช่วงมาบตาพุด -ระยอง – จันทบุรี -ตราด ระยะทาง 218 กิโลเมตร วงเงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท