พรรคร่วมร้าวทางเลือก“ประยุทธ์” เดินเกมรัฐบาลเสียงข้างน้อย ?

พรรคร่วมร้าวทางเลือก“ประยุทธ์” เดินเกมรัฐบาลเสียงข้างน้อย ?

เสียงของฝ่ายรัฐบาล มี 275 เสียง มีพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง หากตัดพรรคภูมิใจไทยออกไปจะเหลือเพียง 214 เสียง โดยจะไปบวกให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน จากเดิมที่มี 212 เสียง บวกพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายมี 273 เสียง 

รัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้ โฟกัสหลักอยู่ที่รอยร้าวของ “3 ป.” กับ “พรรคภูมิใจไทย” โดยเฉพาะ “3 ป.” ยังคงวางเกมที่จะอยู่ในอำนาจในระยะยาว

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ “3 ป.” ได้หารือกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี “1 ป.” บอกว่า “เขาทำอย่างนี้ไม่ได้” ซึ่งหมายถึงภาพรวมของ “ภูมิใจไทย” ที่เดินเกมต่อรองทางการเมืองในหลายโครงการ

เมื่อ “3 ป.” ไม่ยอมให้ “ภูมิใจไทย” เดินเกมได้สะดวกอีกต่อไป  ผู้มีบารมีเหนือพรรคภูมิใจไทย และ “อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็พร้อมเปิดศึกรบกับ “3 ป.” เช่นกัน

“พล.อ.ประยุทธ์ + 2 ป.” ที่แม้จะถือไพ่เหนือกว่า แต่ทางออก-ทางเลือก มีจำกัดอยู่เพียง 5 ทางเท่านั้น ประกอบด้วย 1.อยู่แบบเดิมจนครบวาระ 4 ปี 2.ปรับ่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม 3.ปรับ ครม.รัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยดึงมือดี น่าเชื่อถือ เข้ามาบริหารประเทศ 4.นายกรัฐมนตรีลาออก และ 5.ยุบสภา

แนวทางที่ 1 รัฐบาลอยู่แบบเดิม อยู่ครบเทอม 4 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” อยากทำอยู่แล้ว แต่คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนไม่ยอมรับ ซึ่งมองแล้วอาจจะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ไม่ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

แนวทางที่ 2 ปรับครม.ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่เมื่อแก้วที่มันเกิดรอยร้าวแล้ว ก็ยากที่จะทำให้เหมือนเดิมได้ โดย “อนุทิน” ก็ยังถามว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับพรรคภูมิใจไทยอย่างไร

โดยแนวทางนี้มีการหารือกันแล้ว 2-3 รอบ แต่ยังไม่ตกผลึก แต่ยังมีความเป็นไปได้ หากสามารถตกลงได้กัน หรือผลประโยชน์ลงตัว

แนวทางที่ 3 ปรับครม.เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดึงมือดี น่าเชื่อถือมาบริหารประเทศ โดยน้ำหนักในตอนนี้หากแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับ “พรรคภูมิใจไทย” ออกจากการอยู่ร่วมรัฐบาล หากกล้าหาญยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้ว ต้องดึงมืออาชีพจริงๆมาบริหารประเทศ ซึ่งมีคนมือฝีมือยอมช่วยรัฐบาลในยามวิกฤติแน่นอน

โดยรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะต้องอยู่เฉพาะกิจเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ครบเทอม เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศให้แล้วเสร็จ บอกภารกิจที่จะทำทั้งหมด เมื่อทำเสร็จคืนอำนาจให้ประชาชน หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ทำตามแนวทางนี้สำเร็จ คะแนนนิยมฟื้นอย่างแน่นอน

แนวทางที่ 4 “พล.อ.ประยุทธ์”ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก แทบจะปิดทางไปเลย หากย้อนในประวัติศาสตร์ 30 ปีที่ผ่านมา มีเพียง “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เท่านั้นที่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันตลอดว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมถามกลับว่า “ผมผิดอะไร”

แนวทางที่ 5 ยุบสภา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก หากพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ หนึ่งสามารถแก้ปัญหาโควิดได้ในระดับหนึ่ง และรู้ว่ายุบสภาแล้วสามารถชนะการเลือกตั้งมาได้ ถึงจะมีการยุบสภา  สองมีกลไก กติกา ที่บังคับให้ต้องยุบสภา อาทิ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 และพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จะทำให้เกิดแรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุบสภาทันที

ทางออก-ทางเลือกของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีเพียง 5 แนวทางเท่านั้น เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง

อย่างไรก็ตามแนวทางรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยตัดพรรคภูมิใจไทยออกไป สมการทางการเมืองจะเปลี่ยนไปทันที เพราะปัจจุบันเสียงของฝ่ายรัฐบาล มี 275 เสียง มีพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง หากตัดพรรคภูมิใจไทยออกไปจะเหลือเพียง 214 เสียง

ที่สำคัญเสียงของพรรคภูมิใจไทย จะไปเพิ่มให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน จากเดิมที่มี 212 เสียง บวกพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายมี 273 เสียง แม้จะคิดเป็นตัวเลขตรงๆ ไม่ได้ เนื่องจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านบางคน มีฝ่ายรัฐบาลฝากเลี้ยงเอาไว้ แต่ตัวเลขของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลทันที

ทั้งหมดคือทิศทางของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ในวันที่รอยร้าวระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์-2 ป.” กับ “พรรคภูมิใจไทย” ร้าวหนักจนยากจะสมานแผล

162238564912