‘ซีพีออลล์’อ่วม! โควิดฉุดยอดขาย-แบกรายจ่ายซื้อ‘โลตัส’

‘ซีพีออลล์’อ่วม! โควิดฉุดยอดขาย-แบกรายจ่ายซื้อ‘โลตัส’

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เป็นหนึ่งในหุ้นขวัญใจมหาชน ด้วยตัวธุรกิจที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดี ได้ใช้บริการอยู่บ่อยๆ

อย่างร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 หมื่นสาขา และมีสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้เลือกช้อปมากมาย ช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไทยได้เป็นอย่างดี

แม้ที่ผ่านมาผลประกอบการอาจไม่หวือหวา ไม่ได้ขยายตัวร้อนแรงเหมือนกับหลายๆ ธุรกิจ แต่ก็มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอจากการขยายสาขาใหม่ๆ อย่างไรก็ตามธุรกิจค้าปลีกต้องอิงกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าช่วงไหนเศรษฐกิจขยายตัวดี คนก็มีกำลังซื้อ กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อก็หดหาย จะซื้ออะไรต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี

ดูได้จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเต็มๆ หลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว ต้องตัดสินใจปิดกิจการ มีทั้งที่ปิดชั่วคราวและปิดถาวร เพราะขาดสภาพคล่องเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน คนตกงานไปไม่น้อย

ขณะที่หลายบริษัทลดเงินเดือน ตัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศซบเซาอย่างหนัก จนภาครัฐต้องออกมาตรการเติมเงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ผ่านหลายมาตรการ เช่น คนละครึ่ง, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน ฯลฯ ซึ่งก็พอช่วยผู้ประกอบการายย่อยได้บ้าง

ส่วน CPALL ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐได้โดยตรง ทำให้ผลประกอบการงวดล่าสุด ไตรมาส 1 ปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 2 ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบภาคการท่องเที่ยงยังไม่ฟื้น

โดยไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้ทั้งหมด 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น “กลุ่มร้านสะดวกซื้อ” มีรายได้รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 14.97% แม้ว่าจะมีการเปิดสาขาใหม่รวม 155 สาขา รวมทั้งรุกเจาะตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยยอดขายเฉลี่ยของสาขาเดิมที่ลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนได้

ส่วน “กลุ่มค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง” ของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ยอดขายชะลอตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 55,878 ล้านบาท ลดลง 0.48% จากช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีรายได้ทั้งหมด 56,148 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิลดฮวบเหลือ 2,599 ล้านบาท ลดลง 53.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5,645 ล้านบาท เรียกว่าปีนี้ CPALL ออกสตาร์ทได้ไม่สวยเลย แถมยังแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อีก จะเห็นว่ากำไรสุทธิลงหนักเมื่อเทียบกับรายได้

เพราะถ้าเจาะลงไปดูในงบฯ นอกจากรายได้ที่ชะลอตัวแล้ว ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 1,020.18 ล้านบาท จาก 1,880.58 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,900.76 ล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อไปซื้อกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” แต่กลับรับรู้ส่วนแบ่งกำไรงวดแรก จากที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 40% เข้ามาเพียง 36 ล้านบาท เท่านั้น

เนื่องจากผลประกอบการของ “เทสโก้ โลตัส” ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โลตัส” ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นกัน ประกอบกับเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ มีการรีแบรนด์ใหม่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเข้าที่เข้าทาง และรอโรคระบาดคลี่คลาย ถึงจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ

ดูแล้วสถานการณ์ของ CPALL ปีนี้ยังเหนื่อย ความไม่แน่นอนยังสูง ไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ แถมยังมีโอกาสเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ทุกเมื่อ เวลานี้คงต้องฝากความหวังไว้ที่วัคซีน ทั้งนี้ ยังต้องทำใจกันไว้ด้วย ไตรมาส 1 ว่าหนักแล้ว แต่ไตรมาส 2 หนักยิ่งกว่า เพราะเกิดการระบาดระลอก 3 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแตะหลักพันคนต่อวัน จนต้องยกระดับมาตรการคุมเข้มอีกครั้ง

โดยบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อกิจการโลตัสเข้ามาอีก ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ Bridging Loan และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการออกหุ้นกู้ ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนออกหุ้นกู้มาแทนเงินกู้ Bridging Loan ที่กู้มาซื้อโลตัส

นอกจากนี้ ยังอยู่ในช่วงของการรีแบรนด์และเปลี่ยนผ่านธุรกิจซึ่งจะกดดันรายได้ Equity Income ที่จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามา โดยคาดว่า Equity Income ปีนี้จะอยู่ที่ 300 ล้านบาท และปี 2565 ที่ 900 ล้านบาท