1 มิถุนายน ‘วันดื่มนมโลก’ เช็ค 5 วิธีจัดเก็บนมพร้อมดื่มให้คงคุณภาพ

1 มิถุนายน ‘วันดื่มนมโลก’ เช็ค 5 วิธีจัดเก็บนมพร้อมดื่มให้คงคุณภาพ

เนื่องใน "วันดื่มนมโลก" ที่ตรงกับวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี อย. แนะนำคนไทยให้เลือกซื้อ "นม" ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน พร้อมรู้วิธีเก็บรักษานมพร้อมดื่ม 5 ชนิดให้คงคุณภาพ และดื่มได้ปลอดภัย

1 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันดื่มนมโลก" หรือ World Milk Day กำหนดขึ้นโดยองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภค "นม" ด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ และกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมให้แก่ประชาชน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรู้จักที่มาและความสำคัญของ "วันดื่มนมโลก" ดังกล่าว พร้อมเปิดคำแนะนำจาก อย. เกี่ยวกับวิธีเก็บรักษานมพร้อมดื่ม 5 ชนิดให้คงคุณภาพและดื่มได้ปลอดภัย

  • 35 ประเทศทั่วโลก ร่วมรณรงค์ "วันดื่มนมโลก"

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันดื่มนมโลก" หรือ World Milk Day โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภค "นม" แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ที่มีการเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลก

  • "นม" เป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูงที่สุด

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation หรือ IOF) ระบุว่า "นม" เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแท้จริง จัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงที่สุด มีความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยเป็นแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุด อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด

นมเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และวิตามิน จึงมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ช่วยเสริมสร้างให้ฟันแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ 

  • วิธีเลือกซื้อ "นม" ปลอดภัย ต้องมีเลขสารบบ 13 หลัก

เนื่องในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันดื่มนมโลก" (World Milk Day) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด อย. จึงแนะนำผู้บริโภคถึงวิธีการเลือกซื้อนมพร้อมดื่มเพื่อความปลอดภัย โดยก่อนซื้อให้ตรวจสอบที่ผลิตภัณฑ์นม ต้องระบุเลขสารบบอาหาร 13 หลัก หรือข้อมูลบนฉลากต้องครบถ้วน ได้แก่

ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด อีกทั้ง ควรเลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่มีการเก็บผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม เช่น ใส่ในตู้แช่หรือสถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน

  • เช็ค 5 วิธีเก็บรักษา "นมพร้อมดื่ม" ให้คงคุณภาพดี

นอกจากนี้ อย. ยังแนะนำถึงวิธีเก็บรักษา "นม" ให้ถูกต้อง เพราะมีผลต่อคุณภาพของนมพร้อมดื่มโดยตรง ปัจจุบันมีนมพร้อมดื่มหลายประเภทจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

1. นมพาสเจอร์ไรส์

เมื่อซื้อมาแล้วควรเก็บในตู้เย็นทันที เก็บได้นานประมาณ 10 วัน โดยเก็บไว้ในที่เย็นอุณหภูมิไม่เกิน 8 °C นับจากวันที่บรรจุ ในกรณีที่ดื่มไม่หมดต้องการเก็บไว้ดื่มอีก ควรเทแบ่งใส่แก้มดื่ม ไม่ควรดื่มจากภาชนะบรรจุโดยตรง ซึ่งจะทำให้นมที่เหลือบูดง่าย

2. นมยูเอชที

ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรโดนแดดโดยตรง ไม่เก็บซ้อนหลายชั้นเกินไป เก็บได้นานประมาณ 6 เดือน

3. นมเปรี้ยวพาสเจอร์ไรส์

ควรเก็บในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่านมประเภทอื่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ ถ้าเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 8 °C จะเก็บได้นานถึง 21 วัน

4. นมเปรี้ยวยูเอชที

เก็บได้ประมาณ 8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น

5. นมสเตอริไรซ์ (กระป๋อง)

เก็บได้นานประมาณ 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง

  • หลีกเลี่ยงวิธีขนส่ง "นมพร้อมดื่ม" ที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ การเน่าเสียของนมพร้อมดื่มอาจเกิดได้หลายกรณี ทั้งทางด้านกระบวนการผลิตหรือการบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้มีการปนเปื้อน รวมไปถึงลักษณะการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ภาชนะบรรจุนมมีการรั่วซึม ก็เป็นสาเหตุทำให้นมพร้อมดื่มเน่าเสียได้เช่นกัน เพราะทำให้จุลินทรีย์จากภายนอกปนเปื้อนเข้าไปได้ ดังนั้นจึงควรมีข้อปฏิบัติในการการขนส่ง ดังนี้

  • ระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุนม อย่าให้มีการกระแทกกับของแข็งหรือของมีคม
  • ไม่ควรโยนหรือเหยียบไปบนกล่องบรรจุขณะขนย้าย
  • ไม่ควรวางกล่องนมซ้อนเกิน 7 ชั้น แต่หากเป็นการหุ้มด้วยพลาสติก ไม่ควรวางเกิน 5 ชั้น เพราะจะทำให้กล่องนมด้านล่างถูกกดทับจนเกิดการรั่วซึมได้

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์นมที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขสารบบอาหาร สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ทุกจังหวัด

---------------------

อ้างอิง : 

กระทรวงสาธารณสุข

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย