ชำแหละ3ช่องทาง'ฮั้วประมูลรัฐ' เลขาฯACT ชี้ ปี62คดีทุจริตมูลค่า 2.07แสนล้านบาท

ชำแหละ3ช่องทาง'ฮั้วประมูลรัฐ' เลขาฯACT ชี้ ปี62คดีทุจริตมูลค่า 2.07แสนล้านบาท

"เลขาACT" ชำแหละ3ช่องทาง ฮั้วประมูลงานรัฐ พบนักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชนเอี่ยว ชี้ตัวเลขปี62คดีคอร์รัปชันสูง36.5% รวมมูลค่า2.07แสนล้าน

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือACT โพสต์บทความหัวข้อ “ฮั้ว” ผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้... ‘ฮั้ว’ 

หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณในการจัดซื้อรวมกันราวปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ ป.ป.ช. ต้องทำคดีคอร์รัปชันเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างมากถึงร้อยละ 36.5 ของจำนวนคดีทั้งหมด รวมเป็นเงิน 2.07 แสนล้านบาท (ปี 2562)  ชัดเจนว่าการ ‘ฮั้ว’ หรือการสมยอมราคาในการประมูลงานรัฐ คือวิธีโกงอย่างเป็นขบวนการที่ก่อความเสียหายร้ายแรงให้บ้านเมืองจนยากจะควบคุมได้

วันนี้ นอกจากมาทำความรู้จักเจ้าศัตรูร้ายของประเทศกันแล้ว เราช่วยกันคิดกันดูว่า คดีดังอย่างทุจริตสนามฟุตซอล หรือกรณีอื้อฉาวอย่างการก่อสร้างอาคารรัฐสภาและการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่ามีพฤติกรรมคล้ายข้อไหนบ้างหรือไม่

160793196147

‘ฮั้ว’ เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันโกงรัฐและเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นอย่างผิดกฎหมาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหมายถึงนักการเมืองและข้าราชการ กับอีกฝ่ายที่เป็นเอกชนผู้ยื่นประมูลงาน

การฮั้วเกิดขึ้นได้ 3 ทางคือ

1. เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดวิธีการแล้วเลือกว่าจะให้เอกชนรายใดเป็นผู้ชนะ วิธีนี้นักการเมืองที่วางตัวเป็นบ้านใหญ่ชอบทำกันมาก

2. เจ้าหน้าที่รัฐจับมือกับเอกชน วิธีนี้สามารถปั่นราคาทำกำไรได้มากที่สุด

3. ผู้รับเหมาฮั้วกันเอง วิธีนี้เสี่ยงสูงที่จะฮั้วแตกหรือฮั้วไม่ติดจนเกิดการฟันราคากัน

การฮั้วในแต่ละโครงการมักมีเงื่อนไขและวิธีการแตกต่างกันไป ในที่นี้จัดแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ คือ

1. การฮั้วแบบปิด เป็นการจับมือในกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการประมูลงาน

1.1 กำหนดวิธีการจัดซื้อและอำนาจของผู้จัดซื้อ เพื่อให้พวกตนควบคุมเกมได้ง่าย เช่น ตัดซอยงาน หรืออ้างเหตุจำเป็นบางอย่าง เช่น สถานการณ์ภัยพิบัติหนาว/แล้ง/น้ำท่วม ความมั่นคง โควิด-19

1.2 กำหนดทีโออาร์หรือเงื่อนไขการประมูลที่ผิดปรกติ เพื่อทำให้เอกชนบางรายได้เปรียบ เช่น โครงการเมกะโปรเจคที่กำหนดว่า ผู้ประกอบการในประเทศจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

1.3 Unbalance Bidding เป็นการยื่นประมูลที่เจตนาเสนอราคาไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง วิธีนี้จำเป็นมากที่ผู้ประมูลกับเจ้าหน้าที่ต้องร่วมมือและไว้วางใจกันเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น

1.3.1 โครงการที่วางแผนหรือรู้กันมาก่อนแล้วว่า เมื่อลงมือทำจริงจะมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก เพิ่มลดเนื้องานจำนวนมาก ผู้เสนอราคาจะเสนอราคาต่อหน่วยให้ถูกมากหรือขาดทุนสำหรับงานที่รู้ว่าจะมีการลดปริมาณหรือตัดออกหรือแก้ไขแบบ แต่จะเสนอราคาต่อหน่วยแพงมากสำหรับงานที่จะมีการเพิ่มปริมาณในอนาคต วิธีนี้จะทำให้ราคารวมที่ยื่นประมูลถูกกว่าคู่แข่ง เพื่อให้ได้งานไว้ก่อนแล้วฟันกำไรในวันข้างหน้า

1.3.2 การเสนอราคาที่ไม่สอดคล้องกับราคาตลาด สำหรับสินค้าหรือบริการที่ต้องมีการซื้อต่อเนื่อง ต้องใช้ของชนิดเดียวกันหรือต้องเชื่อมโยงกัน เช่น ซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ต้องมีการซื้อเพิ่มหรือขยายขีดความสามารถในอนาคต สินค้าที่ผูกขาดการกำหนดราคาอะไหล่และบริการหลังการขาย

2. การฮั้วแบบเปิด เป็นการฮั้วที่มีผู้รู้เห็นในวงกว้าง นิยมทำกันทั่วไป ไม่ซับซ้อน มีทั้งกรณีที่จัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนฮั้วกันเองและจัดฮั้วโดยคนนอกที่มีอาชีพจัดฮั้วโดยตรง แยกเป็น

2.1 การจับฮั้วเพื่อ ‘แบ่งงาน’ คือ ตกลงกันล่วงหน้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการประมูลแต่ละโครงการ รวมถึงตกลงราคากันด้วยว่าควรเป็นเท่าไหร่

2.2 การจับฮั้วเพื่อ ‘กินค่าฮั้ว’ คือทุกคนที่ซื้อซองประกวดราคาจะได้รับเงินสดไปจำนวนหนึ่ง

2.3 ฮั้วแบบกีดกัน โดยใช้อิทธิพลหรือข่มขู่ ไม่ให้เอกชน ‘รายอื่น’ เข้ามายุ่งเกี่ยว หรือมีการกำหนด

เงื่อนไข/ระยะเวลาก่อสร้าง/ส่งมอบงานที่คนทั่วไปทำไม่ได้ เช่น โครงการกำจัดขยะ

2.4 ฮั้วขนาดใหญ่หรือร่วมมือเป็นเครือข่าย ทำกันแบบโจ่งแจ้ง เช่น กรณีสนามฟุตซอล

ผู้มีประสบการณ์แนะให้สังเกตว่า หากงานใดที่ผู้ชนะการประมูลด้วยใกล้เคียงกับราคากลางมาก แสดงว่ามีการแข่งขันน้อยหรือแข่งขันไม่เป็นธรรม งานนั้นมีแนวโน้มสูงว่าเกิดการฮั้วขึ้นแล้ว ผู้เกี่ยวข้องควรเข้าไปตรวจสอบทีโออาร์และสิ่งที่เกิดขึ้นในการประมูล

จุดอ่อนที่ต้องแก้ไขเพื่อป้องกันการฮั้ว เช่น ขาดการเปิดเผยข้อมูลให้ชุมชนและสาธารณชนรับทราบ ระบบขึ้นทะเบียนผู้รับเหมามีจุดบกพร่อง การเขียนทีโออาร์ไม่รัดกุม เกิดทุจริตในการบริหารสัญญาฯ หัวหน้าหน่วยงานปัดความรับผิดชอบ เอกชนที่ร้องเรียนมักโดนเอาคืนจากผู้เสียประโยชน์ เป็นต้น

การฮั้วทำให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม เป็นมหันตภัยต่อการพัฒนาประเทศ การจัดประมูลราคาจึงจำเป็นต้องมีกติกาและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนและเปิดเผย เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเงินของแผ่นดินจะถูกใช้คุ้มค่า เอกชนทุกรายสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม