วิธีทำลายเชื้อโรคใน atk ใช้แล้วต้องทำอย่างไร สารเคมีอะไรที่ใข้ได้ อ่านเลย

26 มี.ค. 2565 | 03:43 น.

วิธีทำลายเชื้อโรคใน atk ใช้แล้วต้องทำอย่างไร สารเคมีอะไรที่ใข้ได้ อ่านเลย หมอยงชี้ควรมีมาตรการที่ถูกต้องลดการแพร่กระจายของเชื้อ

ATK เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Covid-19) แบบเร็วที่ปัจจุบันมีการใช้งานกันเป็นจำนวนมาก เพื่อตรวจหาเชื้อรายบุุคลก่อนที่จะออกไปอยู่รวมกลุ่มกันในสังคม

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความว่า 

 

โควิด 19  การทำลายเชื้อโรคใน ATK ที่ใช้แล้ว

 

การตรวจ ATK ขณะนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย มีการตรวจวันละหลายแสนชิ้น ATK ที่ใช้แล้วไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อหรือตรวจไม่พบเชื้อ ถือเป็นขยะติดเชื้อ 

 

มาตรการในการทิ้งขยะติดเชื้อจะต้องใส่ถุงแดง และมีการทำลายอย่างถูกต้อง 

 

ตามบ้านทั่วไปจะไม่มีถุงแดง และมาตรการการเก็บขยะ ไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ 
จึงเป็นปัญหาในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ถ้าทิ้งในขยะปกติที่ไม่ได้มีการแยกขยะ
 

ดังนั้นการตรวจน้ำเสีย ที่ทิ้งไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย หรือตามแม่น้ำลำคลอง จึงสามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสโควิดได้

 

สิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ หลังการตรวจ APK  คือการทำลายเชื้อในสิ่งที่ตรวจเสียก่อนที่จะนำไปทิ้ง

 

สารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อ covid19 ได้ที่เรารู้จักกันคือแอลกอฮอล์ 
จะทำลายเชื้อเฉพาะไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้มไม่สามารถทำลายได้ เช่นไวรัสในกลุ่มมือเท้าปาก ก็พบได้ในบริเวณลำคอเช่นเดียวกัน

 

วิธีทำลายเชื้อโรคใน atk ใช้แล้วต้องทำอย่างไร

 

สารเคมีที่สามารถทำลายไวรัสได้เป็นอย่างดีในทุกกลุ่ม ได้แก่สารในกลุ่มของฟอร์มาลีน ฟอร์มาลดีไฮด์ ในทางปฏิบัติเราก็ไม่ได้ใช้กันตามบ้าน 

 

สารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ทำลายได้ดี ได้แก่สารที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารคลอรีนที่อยู่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ 
ดังนั้น ATK ที่ใช้แล้ว ควรแยกทิ้งในขยะติดเชื้อหรือถุงแดง 

แต่ถ้าไม่มี ควรทำลายเชื้อเสียก่อนด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีส่วนประกอบของคลอรีน 

 

โดยหยดลงไป 1-2 หยดแล้วห่อให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการทำลายเชื้อเสียก่อน 
และจะต้องคำนึงว่าสารดังกล่าวเป็นสารกัดกร่อน 

 

และคลอรีนเป็นสารระเหย ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ