ห้ามพลาด!! 'เปิดเทอม' รอบนี้ รับมืออย่างไรให้ดีกว่าเดิม?

ห้ามพลาด!!  'เปิดเทอม' รอบนี้ รับมืออย่างไรให้ดีกว่าเดิม?

"Health talk" เตรียมพร้อมโรงเรียนรับมือโควิด-19 อย่างเป็นระบบ "เปิดเทอม" รอบนี้ โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง และตัวเด็กต้องร่วมกันป้องกันตนเองจากโควิด-19

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ เลื่อนเปิดภาคเรียนไปในวันที่ 14 มิ.ย.2564 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน  ดังนั้น การ "เปิดเทอม"อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กน้อย และเด็กน้อยอาจเป็นผู้แพร่เชื้อไปยังครอบครัว ผู้สูงอายุ

มูลนิธิแพททูเฮลท์ ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพนักเรียน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัด Health talk เตรียมพร้อมโรงเรียนรับมือโควิด-19 อย่างเป็นระบบ  โดยร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้อำนวยการโรงเรียน ครูจากโรงเรียนทั่วประเทศที่ได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนในหลากหลายบริบทที่มีการนำโมเดลการจัดการเชิงระบบ ออกแบบป้องกันโควิด

ผศ.เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงการดำเนินงานโรงเรียนประเด็น "โควิด-19" Whole School approach โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ ว่าขณะนี้การระบาด "โควิด-19" ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นของประเทศไทยนั้น มีเด็กและวัยรุ่นติดจำนวนน้อย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางยุโรปพบว่า อัตราส่วนการติดเชื้อโควิดในเด็กค่อนข้างต่ำ กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่ม15-18 ปี  

ทั้งนี้ แม้เด็กจะไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อหลัก แต่ก็มีการติดเชื้อมาจากคนในครอบครัวและใกล้ชิด อีกทั้งเมื่อเด็กมีการติดเชื้อ"โควิด-19"แล้ว จะมีอาการที่คล้ายกับโรคคาวาซากิ คือ มีอาการอักเสบของหัวใจ และหลอดเลือดแดง ทำให้อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวได้ ยิ่งในตอนนี้ประเทศไทยมีการพบเชื้อ "โควิด-19" ในสายพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว จำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง ดูแลและป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อในเด็ก

  • "เปิดเทอม" นี้ร่วมสร้าง "โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ"

“การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ รวมถึงเด็กและวัยรุ่น พวกเขาต้องปรับวิถีชีวิต การเรียนของตนเอง สิ่งสำคัญ คือต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องฉีดวัคซีนให้แก่พวกเขา แต่ในไทยขณะนี้การรับวัคซีนในเด็กอาจจะได้รับช้า ซึ่งการรับวัคซีนสามารถให้ช้าได้  แต่ต้องมีมาตรการป้องกันพวกเขา โดยเฉพาะเด็กอายุ 2 ปี ถึง2ปีครึ่ง ช่วงนี้ภูมิคุ้มกันเด็กจะต่ำมาก การดำเนินการหลักสร้างเสริมสุขภาพให้แก่เด็กต้องมีกระบวนการที่เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมา โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง และเด็กเองต้องมีความรู้ เข้าใจขับเคลื่อนการดูแลเด็กป้องกันโควิด-19 อย่างเป็นระบบทั้งในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”ผศ.เบ็ญจมาศ กล่าว

Whole School approach โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะเกี่ยวกับโควิด-19 จะต้องบูรณาการการทำงานทั้งบบริบทของโรคเรียน บริบทการปฎิรูปการศึกษา บริบทของชุมชน และบริบทการขับเคลื่อนงานสุขภาวะและชุมชน โดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ดี  ซึ่งแต่ละองค์ประกอบการจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานร่วมกัน ผู้บริหารต้องมีระบบการจัดการและบริหารโรงเรียนทั้งระบบ มีกระบวนการกำกับคุณภาพและประเมินผล  ต้องพัฒนาศักยภาพครูผ่านการอบรม โค้ชPLC

ขณะที่ครูต้องจัดการเรียนรู้สุขภาวะทั้งในและนอกโรงเรียน  ตัวกิจกรรมมีความหลากหลาย ใช้สื่อในการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อโควิด มีระบบดูแลสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่เผชิญปัญหา ใช้เพื่อน สร้างแกนนำนักเรียนได้รับการพัฒนาและมีบทบาทกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน มีการพัฒนาให้มีบทบาทร่วมกับครู  โดยต้องมีผู้ปกครอง/ชุมชน เชื่อมต่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชน และมีการพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษา/ผู้ปกครอง ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมได้มีการนำกรอบดังกล่าวไปดำเนินการ

ผศ.เบ็ญจมาศ กล่าวต่อว่าการทำงานเชิงระบบต้องเป็นการลดภาระงานของครู แต่ครูจะต้องเรียนรู้วิธีการทำงานแต่ละด้านร่วมกัน และให้มีการสนับสนุนการทำงานร่วมกับท้องถิ่นเชื่อมต่อกับบริการด้านสุขภาพ สังคม และการคุ้มครอบสิทธิต่างๆ  ในการเปิดภาคเรียนนี้ จะทำให้เด็กปลอดภัยจากโรค โรงเรียนต้องกำหนดกรอบแนวทางตามมาตรฐานป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งด้านสภาพแวดล้อม จัดสถานที่ ห้องเรียน มีการทำป้ายสัญลักษณ์ มีห้องเรียนที่ระบายอากาศ มีการทำความสะอาด มีระบบคัดกรองด้านร่างกาย จิตใจ และผลกระทบที่พวกเขาได้รับ สำรวจนักเรียนก่อนเข้าสถานศึกษา ระหว่างเรียน หลังเลิกเรียน และมีระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาล มีการทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และที่สำคัญต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ทำให้พวกเขาเรียนอย่างสนุกและไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

  • ร.ร.แนะนำการเรียน การจัดกิจกรรม รับช่วง "เปิดเทอม" 

นายสุขุม​ อินทรทะ​ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานวิชาการ โรงเรียนชุมชนบ้านแก้งคร้อหนองไผ่ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า "เปิดเทอม" โรงเรียนได้มีการจัดทำระบบคัดกรองสุขภาพนักเรียน บุคลากรครูและบุคคลภายนอก  โดยครูประจำชั้นจะเป็นผู้สำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน มีมาตรการป้องกันโรค

ทุกวันจันทร์จะมีการติดตามสอบถามการเดินทางของนักเรียนหรือญาตินักเรียนในรอบ 1 สัปดาห์  มีฝ่ายประเมินความเสี่ยง มีการจัดแบ่งกลุ่มนักเรียน เป็นสีเขียว กลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง  สีส้มกลุ่มที่มีความเสี่ยง และสีแดง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แลหากภาพรวมของพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากทางผู้บริหารโรงเรียนก็จะประกาศหยุดการเรียนการสอนทันที เพื่อเป็นการป้องกันโรคไม่ให้เกิดขึ้นแก่เด็ก อีกทั้งมีการนำGoogle forms มาใช้ทำให้มีข้อมูลชัดเจนในการบริหารจัดการดูแลป้องกันโควิด-19 แก่เด็ก

นายวรายุทธ อุตตะมา และน.ส.ปิยาภรณ์ โปธา ครูโรงเรียนมัธยมกัลยาณีวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ ช่วยกันเล่าถึงการจัดกิจกรรมเรียนรู้โควิด-19 ว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในบนพื้นที่สูงห่างจากตัวเมืองต้องใช้เวลาเดินทาง 3 ชม.ซึ่งเมื่อ "เปิดเทอม" ในช่วงโควิด-19 ได้มีการนำสถานการณ์ปัจจุบันมาบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้  ทั้งในรายวิชาพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น วิชาศิลปะจะให้เด็กออกแบบสื่อเกี่ยวกับโควิด ออกแบบโลโก้เจลล้างมือ วิชาวิทยาศาสตร์จะมีการสอนให้ทำเจลล้างมือ วิชาสังคมมีการวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิด เป็นต้น

นอกจากนั้นมี 8 กิจกรรมวิชาเสริม ที่จะทำให้พวกเขาสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ และทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก อาทิ ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ เกษตรสร้างสุข เชฟน้อย นาฎดนตรีกีฬาการละเล่นชนเผ่า ศิลปะแห่งชาติพันธุ์สร้างมูลค่า ท่องเที่ยววิถีกัลยา เด็กดอยซ่อมได้  เด็กดอยมีดี MGC.Channal

ทุกวิชาจะจัดการเรียนการสอนตอบโจทย์กับ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" ให้เด็กรู้จักการจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดสร้างสรรค์  การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการดูแลตนเอง โดยทุกวิชาจะมีการแกนนำนักเรียนคอยช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะการเรียนการสอนในยุคโควิด ต้องเป็นการเรียนรู้ตามรายวิชาและการบูรณาการกิจกรรมทำให้พวกเขามีทักษะ สมรรถนะต่างๆ และรู้จักวิธีป้องกันโรคโควิด-19 ร่วมด้วย