x close

เพจดังส่อง ดราม่าน้องโวลต์ สอบติดหมอแต่จน ชี้ยังไงก็ได้เรียน - ส่องกฎ กยศ. แบบนี้ผ่านไหม

            เพจ Drama-addict เผยดราม่า น้องโวลต์ ติดหมอแต่บ้านยากจน ยังไงก็มีทุนเรียน กยศ. ให้กู้แน่นอน และขอทุนช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยได้ด้วย

จนทิพย์

            จากดราม่าจนทิพย์ กรณี น้องโวลต์ นักเรียนเรียนดี ที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม ไม่มีเงินเรียน มีเงินทั้งบ้าน 1,500 บาท จนมีผู้ใจบุญโอนเงินไปช่วยเหลือกว่า 2.7 ล้านบาท แต่ต่อมากลับถูกหลายคนออกมาตั้งข้อสงสัยว่าน้องไม่ได้จนจริง ทั้งการใช้ iPad Pro, ซื้อน้ำหอมดิออร์ และจัดฟัน เป็นต้น รวมทั้งมีการแฉว่าพี่สาวเพิ่งออกรถป้ายแดงอีกด้วยนั้น

อ่านข่าว : ชาวเน็ตจับผิดสอบติดแพทย์บ้านจน แต่ใช้ iPad Pro - น้ำหอม Dior ได้เงินบริจาค 2.7 ล้าน

           เกี่ยวกับดราม่าดังกล่าว ทางญาติของน้องโวลต์ได้ออกมาตอบโต้ที่มีคนมองว่าถ้าจนจริงทำไมไม่กู้ กยศ. ว่า การกู้ กยศ. นั้นมีเงื่อนไข จะกู้ได้ก็กู้ได้เฉพาะค่าเทอม แต่ค่าครองชีพไม่ได้ หากต้องการกู้ค่าครองชีพก็ต้องทำเกรดให้ถึงอีก

           ล่าสุด วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ระบุใจความว่า เรื่องกู้ กยศ. แล้วต้องทำเกรดนั้นไม่เป็นความจริง เกรดเท่าไหร่ก็ขอทุนหรือขอกู้เรียนหมอได้ ต่อให้ฐานะยากจนไม่ต้องกังวล ถ้าสอบติดได้เรียนแน่นอน อย่างของ กยศ. ก็ยกเลิกเงื่อนไขว่าต้องเกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป ถึงจะกู้ได้ไปแล้วอีกด้วย

           และนอกจากจะมีเรื่องของ กยศ. แล้ว ส่วนทุนของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่มีกำหนดเกรดเฉลี่ย ถ้าสอบติดแล้วฐานะยากจน ไม่มีเงินค่าใช้จ่าย เดินเข้าไปคุยที่ฝ่ายธุรการของคณะได้เลย เดี๋ยวเขาจะจัดหาทุนให้ เชื่อว่าทุนการศึกษาแบบนี้มีทุกมหาวิทยาลัย

           ในส่วนของเคสตน ตนเรียนแพทย์เมื่อ 10 ปีก่อน ก็จบมาได้ก็ผ่านการขอทุนแบบนี้ ตนกู้เรียน กยศ. หมดไป 4 แสน ได้ทุนมหาวิทยาลัยช่วยด้วยส่วนหนึ่ง ไม่อย่างนั้นน่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 6 แสน ซึ่งเคสแบบนี้คิดง่าย ๆ ถ้าคุณเรียนดี สอบติดหมอแล้วไม่มีเงินเรียน มันไม่มีมหาวิทยาลัยไหนโง่พอปล่อยให้คนมีศักยภาพหลุดมือไปหรอก เขามีแต่จะประเคนทุนให้เรียนทั้งนั้น

           ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเว็บไซต์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ระบุคุณสมบัติผู้กู้ยืมไว้หลัก ๆ ดังนี้...

คุณสมบัติทั่วไป ดังนี้...

           1. มีสัญชาติไทย

           2. ศึกษาหรือได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุน  

           3. เป็นผู้ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการเข้าศึกษาที่สถานศึกษาเพียงแห่งเดียวในคราวภาคการศึกษาเดียวกัน

           4. มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถานศึกษา

           5. มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรง หรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราเป็นอาจิณ หรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นอาจิณ เป็นต้น

ลักษณะต้องห้าม ดังนี้

           1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลักษณะหนึ่งลักษณะใด

           2. เป็นผู้ปฏิบัติงานและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะเต็มเวลา เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลักษณะหนึ่งลักษณะใด

           3. เป็นบุคคลล้มละลาย

           4. เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

           5. เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุน เว้นแต่ได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว

           ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกินสามแสนหกหมื่นบาทต่อปี


จนทิพย์

           อย่างไรก็ดี กยศ. มีการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือ

           1. เป็นผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

           2. เป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ ในปีการศึกษาที่ยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนครั้งแรก

           3. เป็นผู้ที่เข้าศึกษาในระดับการศึกษาและหลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาวิชา ดังนี้

           - ระดับการศึกษาอนุปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
           - หลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาวิชาเป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด

           4. เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะในระหว่างปีการศึกษาก่อนหน้าปีการศึกษาที่จะขอกู้ยืมเงิน โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะที่น่าเชื่อถือตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดสำหรับผู้ขอกู้ยืมเงินแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

           - กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ หรือเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษาที่ศึกษาในระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
           - กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษาไม่น้อยกว่าสามสิบหกชั่วโมง

           5. นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ (1)-(4) หากประสงค์จะกู้ยืมเงินค่าครองชีพจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกินสามแสนหกหมื่นบาทต่อปี ทั้งนี้ รายได้ต่อครอบครัวให้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

           - รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของบิดามารดา ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
           - รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดามารดา
           - รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของคู่สมรส ในกรณีผู้ขอกู้ยืมเงินได้ทำการสมรสแล้ว
           
สรุปเคส น้องโวลต์ สามารถกู้ยืมเงินเพื่อเรียนหมอได้หรือไม่

           จากคุณสมบัติเบื้องต้นสามารถกู้เงิน กยศ. ได้ หากรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี หรือหากรายได้ต่อปีเกินจำนวนดังกล่าวก็ยังกู้ได้อยู่ดี เพราะเป็นการกู้เพื่อศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก แต่จะไม่ได้ในส่วนของเงินกู้ค่าครองชีพ ส่วนกรณีเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องทุนการเรียน ก็ยังสามารถแจ้งมหาวิทยาลัยเพื่อขอให้ช่วยเหลือได้เช่นกัน

จนทิพย์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict

จนทิพย์
ภาพจาก กยศ.

จนทิพย์
ภาพจาก กยศ.

จนทิพย์
ภาพจาก กยศ.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict, กยศ.


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจดังส่อง ดราม่าน้องโวลต์ สอบติดหมอแต่จน ชี้ยังไงก็ได้เรียน - ส่องกฎ กยศ. แบบนี้ผ่านไหม อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 13:49:04 14,153 อ่าน
TOP