ความลังเลในการ 'ฉีดวัคซีน' มาจากไหน?

ความลังเลในการ 'ฉีดวัคซีน' มาจากไหน?

เปิดผลงานวิจัยในอังกฤษและแคนาดาที่สะท้อนให้เห็นว่า เพราะเหตุใดคนยังคงลังเลที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ฯลฯ ขณะที่ประเทศไทยยังอาจมีมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับพฤติกรรม และความเหลื่อมล้ำที่น่าศึกษา

ประเด็นเรื่องของฉีดวัคซีนโควิด-19 กลายเป็นหัวข้อในการสนทนารายวันในเกือบทุกกลุ่มสังคม ดราม่าเรื่องของวัคซีนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไป มีทั้งการตามล่าหาวัคซีน ความสับสนวุ่นวายในการจองคิวในการฉีด รวมถึงความลังเลและความไม่แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนดีหรือไม่

ในประเด็นหลังนั้นตอนแรกก็นึกว่าเกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย แต่พบว่าเป็นปรากฏการณ์ในระดับสากลและเกิดขึ้นในประเทศชั้นนำต่างๆ และเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วจนทาง WHO ตั้งชื่อว่า Vaccine Hesitancy และเคยระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของคนทั่วโลกอีกด้วย

มีการศึกษาในปี 2564 พบว่ามีเพียง 50-60% ของประชากรทั่วโลกที่ยอมที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอัตราดังกล่าวก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ อย่างเช่นในอังกฤษ พบว่าร้อยละ 18 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (จากงานวิจัยอีกชุด) ยังมีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 งานวิจัยในลักษณะเดียวกันที่ประเทศแคนาดาพบว่ามีเพียงร้อยละ 48 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบรับที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ทันทีเมื่อมีวัคซีนออกมา

ผลจากความลังเลในการฉีดวัคซีน ทำให้มีนักวิชาการอยากจะทราบสาเหตุ เลยไปศึกษาวิจัยต่อว่าทำไมยังมีประชากรจำนวนมากที่มีความลังเลที่จะฉีดวัคซีน ได้ไปพบเจองานวิชาการสองชิ้นที่ทางผู้วิจัยได้ไปเก็บข้อมูลมาจากสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยงานชิ้นหนึ่งเก็บข้อมูลเฉพาะทวิตเตอร์ของชาวอเมริกัน และอีกชิ้นเก็บเฉพาะทวิตเตอร์ของชาวแคนาดา จากนั้นทางผู้วิจัยก็นำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการวิจัย เพื่อจัดกลุ่มและศึกษาดูว่าอะไรคือสาเหตุหลักๆ ที่ประชากรในทั้งสองประเทศยังลังเลที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19

จากงานวิจัยทั้งสองชิ้นพอจะสรุปประเด็นหลักๆ ที่คนลังเลที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 (โดยการเก็บข้อมูลจากการโพสต์บนทวิตเตอร์) ได้เป็นดังนี้

1.ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด คนกลุ่มนี้จะลังเลในการฉีดวัคซีน เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง ทำให้คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เช่น คิดว่าวัคซีนเป็นเพียงแค่การทดลองทางการแพทย์ หรือเป็นโควิด-19 แล้วมีโอกาสหายเองได้สูง หรือวัคซีนยังไม่เคยถูกทดสอบมาก่อน หรือวัคซีนจะทำให้เกิดโรคใหม่ๆ เป็นต้น

2.ความปลอดภัย จะเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับความกังวลในความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน รวมถึงความกังวลว่าวัคซีนจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าข้อดี

3.ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) กลุ่มนี้ก็จะเป็นพวกที่มีจินตนาการสูงและมองว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ออกมานั้นเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม (โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่) หรือแม้กระทั่งวัคซีนที่ออกมามีไมโครชิปแฝงอยู่เพื่อใช้ในการติดตามคน

4.ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นความไม่ไว้วางใจต่อทั้งบริษัทที่ผลิตวัคซีน นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หน่วยงานภาครัฐ หรือรัฐบาล ทำให้เกิดความลังเลในการฉีดวัคซีน

5.เสรีภาพในการตัดสินใจ มองว่าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด รวมทั้งเลือกชนิดของวัคซีนที่จะฉีดด้วย

งานวิจัยดังกล่าวนอกจากพยายามหาสาเหตุที่ทำให้คนลังเลที่จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังได้พยายามให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้แก้ไขปัญหาและให้คนหันมาฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมากขึ้น ทั้งเรื่องของการสื่อสาร การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง การใช้ Influencer ที่เป็นที่เชื่อถือในสังคม การมุ่งเน้นประเด็นของวิทยาศาสตร์และการแพทย์มากกว่าด้านการเมือง (ข้อความและความรู้ทั้งหลายที่สื่อสารออกไปควรจะมาจากแพทย์มากกว่านักการเมือง) และการพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของวัคซีนต่อตนเองและครอบครัว

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดเป็นผลวิจัยจากต่างประเทศ แต่ในหลายๆ ส่วนก็สามารถนำมาปรับใช้และต่อยอดกับของประเทศไทยได้ด้วย และสำหรับในประเทศไทย นอกเหนือจากมุมมองของความลังเลในการฉีดวัคซีนแล้ว ยังอาจจะมีอีกมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับ “พฤติกรรม” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่น่าศึกษาด้วย