สองปราสาทหิน ที่ ‘ทับหลัง’ กลับคืนมา

สองปราสาทหิน ที่ ‘ทับหลัง’ กลับคืนมา

ย้อนรอยสอง "ปราสาทหิน" ต้นทางของ "ทับหลัง" ที่สูญหายและเพิ่งได้กลับมาสู่มาตุภูมิ

มีข่าวมาเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมว่า ทับหลัง จาก ปราสาทหิน สองแห่งของไทยคือจากปราสาทเขาโล้น ที่ จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จาก จ.บุรีรัมย์ ได้ถูกส่งคืนมาจากสหรัฐอเมริกา หลังจากที่หายไปร่วม 50 ปีก่อน ซึ่งมันก็มีกระบวนการพิสูจน์และกระบวนการทวงคืนมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเสิร์ชหาอ่านดูได้ซึ่งมีข้อมูลมากมาย ซึ่งผมจะไม่เล่าให้ฟังในที่นี้ เมื่อนำกลับมาแล้วเขาจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระนคร 3 เดือน ส่วนหลังจากนั้นจะนำกลับไปสู่ที่เดิม หรือจะนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ หรือจะอย่างไรก็ตาม ก็คอยติดตามต่อไป แต่ครั้งนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านให้มาเห็นสภาพของปราสาททั้งสองแห่งนี้ก่อนก็แล้วกัน   

ปราสาทเขาโล้น อยู่ในเขต ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ถ้าท่านผู้อ่านเริ่มต้นจากสามแยกหน้าโรงพยาบาลอรัญประเทศ ให้ใช้ถนนหมายเลข 348 (ซึ่งย่านนี้ ในช่วงฤดูฝน น่ามาขับรถท่องเที่ยวมาก บรรยากาศเขียวๆ มีที่เที่ยวกระจายอยู่โดยทั่ว) ผ่านโคกสูงไปจนถึงกุดเตย จะมีสามแยกซ้ายมือ เป็นถนนหมายเลข 3486 ใช้ถนนเส้นนี้ไปจนเมื่อเข้าตำบลทัพราช เขตบ้านเจริญสุข ให้สังเกตทางขวามือ จะมีป้ายเข้าปราสาทเขาโล้น ขับรถลงไปตามทาง จะเป็นป่าโปร่ง พื้นที่ป่ากว้างพอประมาณ มีเนินเขาเตี้ยๆ มีวัดปราสาทเขาโล้นอยู่เชิงเขาด้านหนึ่ง ขับรถอ้อมเชิงเขาไปจนไปถึงทางขึ้นปราสาท จากนั้นจึงเดินเท้า จะมีทางเดินกว้างราว 6 เมตร ถูกเรียงด้วยหินเต็มทาง ค่อยๆ ขึ้นเนินไปเรื่อยๆ เนินไม่ชันนัก ราว 100 เมตร ก็ขึ้นไปถึงยอดเนิน

162278637363

ทับหลังปราสาทเขาโล้นที่ถูกส่งคืน

ตอนผมไปเมื่อนานมาแล้วบนยอดเนินเตี้ยๆ นั้น มีศาลาหลังเล็กที่สร้างมาใหม่ เปิดโล่งสามด้าน ด้านหลังสร้างติดด้านหน้าขององค์ปราสาท มีพระประธานหันหลังใส่ปราสาท ชะโงกไปดูหลังองค์ประประธานก็เห็นว่าเป็นโพรงเข้าไปในตัวองค์ปราสาทพระประธานตั้งบังไว้ กรอบประตูอะไรไม่เห็นแล้ว ตอนหลังราวปี 2560 มีการบูรณะและขุดค้นเพิ่มเติม มีการรื้อศาลาด้านหน้าออก แล้วขุดค้นเพิ่มจึงเห็นฐานที่สร้างจากอิฐ และมีร่องรอยของปราสาทอีก  3 หลัง ตอนผมไปยังไม่มีการขุดค้น เห็นแค่ปราสาทหลังเดียว ซึ่งตรงกับที่ในหนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี ของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2510 ท่านบรรยายถึงปราสาทและทับหลัง ซึ่งมีภาพทับหลังปราสาทเขาโล้น อยู่ด้วยว่า...

ปราสาทเขาโล้นเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ ทับหลังสลักเป็นรูปเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน อย่างไรก็ดี ท่อนพวงมาลัยนั้นมิได้ออกมาจากปาก แต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันเพียงข้างละ 2 วงเท่านั้น เหตุนั้นจึงอาจอยู่ในระหว่าง พ.ศ.1700-1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ.1600-1650 อย่างไรก็ดีเสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทอิฐแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ.1559 แต่เสาอิงประตูและกรอบประตูหินทรายเหล่านี้อาจจะนำมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้ซึ่งผมไม่รู้ว่านี่ใช่หลักฐานหนึ่งในการยืนยันทับหลังองค์นี้ว่าเป็นของไทยในการทวงคนครั้งนี้ด้วยหรือไม่

162278644335

ปราสาทเขาโล้นก่อนการบูรณะ

162278644397

ชิ้นส่วนประกอบปราสาท ทำจากหินทราย เช่น ฐานโบนี เศษเสากรอบประตูที่แตกหักบริเวณปราสาทเขาโล้น

แต่ก่อนไม่เห็นฐานอิฐหรือฐานปราสาทองค์อื่น เห็นแต่หญ้าขึ้นคลุมโดยทั่วกับเศษอิฐและชิ้นส่วนประกอบปราสาทที่ทำจากศิลาทราย เช่น ฐานโยนี ชิ้นส่วนกรอบประตู แตกหักวางกองกันอยู่ด้านหน้า เข้าใจว่าเมื่อบูรณะแล้ว คงเก็บส่วนประกอบเหล่านี้ไปแล้ว ที่นี่ไปกี่ครั้งก็ไม่เคยเจอใคร นานๆ จึงจะมีคนมาเที่ยวดูสักครั้ง บรรยากาศจึงสงบ ร่มรื่น แต่หน้าแล้งก็จะดูร้อนๆ หน่อย

ทีนี้เราไปดูปราสาทหนองหงส์ โดยออกมาจากปราสาทเขาโล้น เลี้ยวขวา ใช้ถนนหมายเลข 3486 ไปจนบรรจบกับถนน 386 ที่ตำบลทัพราช เลี้ยวซ้ายไปตามถนน 386 ผ่านอุทยานแห่งชาติตาพระยา ขึ้นเขาช่องตะโก ไปถึงอำเภอโนนดินแดง สังเกตทางขวามือ จะเห็นอนุสาวรีย์เราสู้ และทางเข้าเขื่อนลำนางรอง เข้าไปที่เขื่อนแล้วแล่นไปตามถนนบนสันเขื่อนจะเห็นปราสาทหนองหงส์ทางซ้ายมือ

162278644450

ทางเดินขึ้นปราสาทเขาโล้น

ปราสาทหนองหงส์ นี่ผมได้ไปเห็นตั้งแต่ยังไม่บูรณะ ปราสาทยังระเกะระกะ จนกระทั่งบูรณะเสร็จสวยงาม แต่ก็รกรื้อไปด้วยหญ้าและกองขี้วัวขี้ควายรอบๆ ปราสาทหนองหงส์นี่ดูจากสันเขื่อนลำนางรองจะสวยมาก เห็นปราสาทจากมุมสูงทั่วทั้งองค์

ปราสาทนี้ ถือเป็นปราสาทหินขนาดเล็ก ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานที่เป็นศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ปรางค์องค์กลาง จะมีขนาดใหญ่กว่าสององค์ซ้ายขวา กรมศิลปากร มาบูรณะ แล้วทำประวัติ มีภาพสมัยก่อน มีผังที่สมบูรณ์ให้ดูด้วย โดยข้อมูลบอกว่า เดิมนั้นมีทับหลังประดับเหนือกรอบประตูทั้งสามหลัง คือ ทับหลังที่ปรางค์องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล มือยึดท่อนพวงมาลัย แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังปรางค์องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค เรียกว่าทับหลังสวยทั้งสามองค์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้วเช่นกัน (ทับหลังทั้ง 3 องค์ กรมศิลปากรมีภาพประกอบในป้ายอธิบายความด้วย) ด้านหน้าปรางค์องค์กลางนั้น จะมีทางเดินยาวยื่นออกมา มีบันไดทางด้านหน้า และด้านข้างทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีวิหาร (บรรณาลัย) หันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อีก 1 หลัง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ทำจากศิลาแลง และมีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง เห็นร่องรอยของสระน้ำที่ล้อมรอบอยู่บ้าง ซึ่งนักวิชาการเขาสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16

162278666561

ปราสาทหนองหงส์

162278666653

ปราสาทหนองหงส์เมื่อก่อนบูรณะ

อย่างที่ผมเล่าว่า เดิมก่อนการบูรณะปราสาทก็ดูปรักหักพัง ไม่ได้มีใครมาสนใจ กองหิน กองชิ้นส่วนระเกะระกะ ครั้นพอกรมศิลปากรมาบูรณะจนเสร็จสวยงาม บรรยากาศดูร่มรื่น เพราะมีต้นก้ามปูใหญ่ใกล้ปราสาท แต่พอไม่ค่อยมีคนไปดู การดูแลก็ลดน้อยถอยลงหญ้าเอยอะไรเอยก็ขึ้นกันจนรก ชาวบ้านก็เอาวัวควายไปเลี้ยงรอบๆ ปราสาท ข้างในก็หญ้ารกเหมือนเดิม เดินดูไประวังงูเงี้ยวเขี้ยวขอด้วยก็แล้วกัน

162278666754

ฝูงวัวที่หากินรอบปราสาททิ้งมูลไปทั่ว

การที่ชาวบ้านเรียกร้องจะเอาทับหลังทั้งสองปราสาทไปติดที่เดิม โดยส่วนตัวผมไม่ขัดข้องนะ ของของเขา แต่เอาไปแล้ว จะดูแล จะระวังกันได้ไหม เด็กเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย จะเอาหนังสติ๊กยิงนกที่เกาะ พลาดไปโดนทับหลัง หรือเห็นงูเลื้อยอยู่เอาหินขว้างงูไปโดนทับหลังแตกเสียหาย ฯลฯ เพราะมันไม่มีคนเฝ้า คอยดูแลแบบพิพิธภัณฑ์ แรกๆ มาก็อาจจะเห่อแบบนี้แหละ นานวันไป กลัวจะเข้าอีหรอบเดิม

แต่คิดอ่านอย่างไรผมไม่ขัดข้อง คิดให้ดีก็แล้วกัน ว่ามันจะเข้าทำนอง กลัวจะเข้าทำนองไก่ได้พลอย...