ฝุ่นกลับมาแล้ว ..เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโควิด เสี่ยงสูง

ฝุ่นกลับมาแล้ว ..เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโควิด เสี่ยงสูง

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาแล้ว ! และเป็นปัญหาที่เกิดทุกปี ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในระยะยาว โดยเฉพาะการสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ราคาไม่แพง !

PM 2.5 หรือมลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน กำลังกลับมาเยือนกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ของประเทศ

ฝุ่นเหล่านี้อันตราย ด้วยสาเหตุหลัก 2 ข้อ

1.ขนาดเล็ก จึงเข้าสู่ร่างกายง่าย หลายท่านอาจสงสัยว่าเล็กแค่ไหน เล็กกว่า 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ หรือมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของเม็ดเลือดมนุษย์เท่านั้น และเพราะเล็กขนาดนี้ ขนจมูกจึงไม่สามารถดักไว้ได้ 

2.ฝุ่นเหล่านี้เป็นพาหะนำสารอันตรายอื่นๆ เข้าร่างกาย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนักอื่น

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ฝุ่นจะกระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หลอดเลือด ก่ออันตราย ก่อโรค เช่น โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง โรคมะเร็ง

ในแง่ผลกระทบ ฝุ่น PM 2.5 ก่อผลกระทบหลัก 3 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม

หนึ่ง ด้านสุขภาพ สหประชาชาติประเมินว่า แต่ละปีมีคนตายจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โรคหลักๆ ที่ทำให้เสียชีวิตคือ โรคหลอดเลือดสมองกว่า 2.2 ล้านคน โรคหัวใจ 2 ล้านคน โรคที่เกี่ยวกับปอดหรือมะเร็งปอด 1.7 ล้านคน

ในเด็ก UNICEF ให้ข้อมูลว่า มลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบถึง 17 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานอย่างน้อย 6 เท่า ในจำนวนนี้ 12.2 ล้านคนอยู่ในเอเชียใต้ และ 4.3 ล้านคนอยู่ในเอเชียแปซิฟิก 

ในผู้ใหญ่ งานวิจัยพบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลต่อความสามารถในการจดจำ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์

OECD คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 3 ล้านรายในปี 2010 เป็น 6-9 ล้านรายในปี 2060 ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตมาจากประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้น้อย โดยปัญหาจะรุนแรงในประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย กรีนพีซ ระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปีละ 50,000 คน

สอง ด้านเศรษฐกิจ ฝุ่น PM 2.5 กระทบเศรษฐกิจหลายมิติ กระทบการผลิตภาคเกษตร กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อสุขภาพแรงงาน ซึ่งกระทบผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ก่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ OECD ประเมินว่า ทั่วโลกจะสูญเสียวันทำงานจากแรงงานป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปีละ 1,200 ล้านวัน เป็น 3,700 ล้านวันในปี 2060

ถ้าไม่ทำอะไร ในปี 2060 มลพิษทางอากาศจะก่อต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจโลกถึง 1% ของ GDP โลก

สาม ด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของโอโซนระดับต่ำ (Ground Level Ozone) ซึ่งมีสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก ซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนให้รุนแรงขึ้น

โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตโควิด ฝุ่น PM2.5 เสี่ยงซ้ำเติมการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อติดเชื้อ มีอาการป่วยรุนแรง

มีงานศึกษาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM2.5 กับโควิด 19 เช่น ผลการศึกษาในวารสาร Science Advances (ปี 2020) เรื่องมลพิษในอากาศกับการเสียชีวิตจากโควิด 19 ของสหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูลการเสียชีวิตของคนอเมริกันจากโควิดของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins พบว่า พื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง อัตราการเสียชีวิตจากโควิด19 สูงไปด้วย

ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดทุกปี รัฐบาลควรมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในระยะยาว โดยเฉพาะการสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ราคาไม่แพง มีความครอบคลุม และทุกคนเข้าถึงได้ รัฐควรควรใช้โอกาสนี้สนับสนุนอุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ควรมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว และมาตรการกำจัดขยะที่ดี ป้องกันการเผาสิ่งต่างๆ ในที่โล่ง

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโควิดต้องระวังฝุ่นให้ดีครับ