ThaiPublica > เกาะกระแส > เรือบรรทุกเกยตื้นที่คลองซูเอซ ผลกระทบต่อระบบการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา

เรือบรรทุกเกยตื้นที่คลองซูเอซ ผลกระทบต่อระบบการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา

27 มีนาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เรือ Ever Given เกยตื้นที่คลองซูเอซ ที่มาภาพ : nytimes.com

เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุก The Ever Given ความยาว 499 เมตรของญี่ปุ่น แต่บริหารโดย Evergreen ของไต้หวัน ได้เกยตื้นในคลองซูเอซ ทำให้ตัวเรือขวางการจราจรทางเรือทั้งสองเส้นทางในคลองซูเอซ

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ กระทบต่อการจราจรทางเรือที่แล่นผ่านคลองซูเอซ ที่วันหนึ่ง มีเรือแล่นผ่านประมาณ 50 ลำ การจราจรของสินค้ามีมูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน โดยเป็นจราจรทางเรือมุ่งทิศตะวันตก วันหนึ่งมีมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ และจราจรทางเรือมาทางตะวันออก มูลค่าวันละ 4.5 พันล้านดอลลาร์ และการค้าโลกสัดส่วน 12% จะขนส่งผ่านคลองแห่งนี้

ความสำคัญของคลองซูเอซ

เว็บไซต์ globalsecurity.org กล่าวว่า ในทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ คลองซูเอซเป็นหนึ่งในเส้นทางน้ำสำคัญที่สุดของโลก โดยเชื่อมระหว่างเมืองท่าซาอิด (Said) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถึงเมืองท่าซูเอซในทะเลแดง คลองซูเอซเป็นเส้นทางตรงของการขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปกับเอเชีย และยังเป็นเส้นทางเชื่อมที่เร็วที่สุด ระหว่างแอตแลนติกมายังมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากมีความยาว 195 กม. และเป็นคลองที่ไม่มีประตูน้ำ การแล่นเรือตลอดคลองจึงไม่หยุดชะงัก และใช้เวลา 13-15 ชม.

แม้ว่าคลองซูเอซจะถูกสร้างมาสำหรับเรือบรรทุกขนาดเล็ก แต่ก็มีการขยายความกว้างและความลึกของคลองมาหลายครั้ง ครั้งหลังสุดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่อียิปต์ใช้เงินลงทุนไป 8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 อียิปต์มีรายได้จากค่าผ่านทางเป็นเงิน 5.6 พันล้านดอลลาร์

ส่วนเรือ The Ever Given ที่เกยตื้น ถือเป็นหนึ่งในเรือบรรทุกที่ใหญ่สุดของโลก มีความยาวเท่ากับตึกเอมไพร์สเต็ทของสหรัฐฯ สาเหตุการเกยตื้นอาจมาจากทัศนะวิสัยที่ไม่ดี และกระแสลมแรง ทำให้เรือบรรทุก The Ever Given แล่นเหมือนเรือใบ และออกนอกเส้นทางจนเกยตื่น

เนื่องจากคลองซูเอซอาจถูกปิดไปหลายวัน บรรดาเรือบรรทุกที่จอดรอหลายร้อยลำ กำลังคิดจะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ไปผ่านทางแอฟริกาแทน ในยามปกติ การเดินเรือจากคลองซูเอซไปท่าเรือร๊อตเตอร์ดัม จะใช้เวลา 11 วัน แต่หากใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกา จะใช้เวลา 26 วัน ค่าน้ำมันของเรือบรรทุกตกวันละ 30,000-800,000 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ แต่หากเรือจอดรอ ก็จะเสียค่าปรับการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า วันละ 15,000-30,000 ดอลลาร์

สัญญาณเตือนจากห่วงโซ่การผลิต

บทความชื่อ In Suez Canal, Stuck Ship Is a Warning About Excessive Globalization ของ The New York Times รายงานว่า เรือ The Ever Given ไม่ใช่เรือบรรทุกธรรมดา แต่เป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดลำหนึ่ง มีพื้นที่สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ 20,000 ตู้ ใช้ขนส่งสินค้าข้ามทะเล ส่วนคลองซูเอซเป็นช่องแคบสำคัญที่เชื่อมโรงงานในเอเชียกับผู้บริโภคยุโรป นอกเหนือไปจากจากการขนส่งน้ำมัน

กรณีที่เรือบรรทุกลำหนึ่งเกิดเกยตื้นขึ้นมา และสามารถส่งผลสะเทือนจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ไปจนถึงท่าเรือร๊อตเตอร์ดัม ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า การค้าสมัยใหม่ล้วนหมุนล้อมรอบห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain)

ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารหรือบริษัทที่ปรึกษา พยายามส่งเสริมแนวคิดการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา ( just-in-time manufacturing) เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มผลกำไร บริษัทต่างๆพยายามไม่ให้มีต้นทุนที่เกิดจากการเก็บสินค้าในสต๊อก แต่จะอาศัยอินเตอร์เน็ตและอุตสาหกรรมการเดินเรือโลก เพื่อนำส่งมอบสินค้าที่ตัวเองต้องการได้ตรงเวลา แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ ร้านค้าปลีก หรือยา เงินที่ประหยัดจากการสต๊อกสินค้า ก็เปลี่ยนมาเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นแทน

การพึ่งพิงการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา ช่วยอธิบายว่า เมื่อเกิดคลื่นลูกแรกการระบาดของโควิด-19 ทำไมบุคลากรการแพทย์ในอิตาลี ที่ดูแลคนไข้ จึงขาดอุปกรณ์ปกป้องทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ระบบสาธารณสุข ที่ส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยบริษัทผู้ผลิตยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ ถือว่าตัวเองสามารถพึ่งพิงอุตสาหกรรมเดินเรือโลก มาส่งมอบสินค้าในเวลาที่ต้องการ แต่ปัจจุบัน สิ่งนี้กลายเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด

แม้แต่บริษัทแอมะซอนก็เกิดปัญหา ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่สามารถจัดหาหน้ากาก และถุงมือได้พอสำหรับพนักงานทำงานในคลังสินค้า เจฟฟ์ บีซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งแอมะซอนมีจดหมายถึงพนักงานว่า “เราได้สั่งซื้อหน้ากากหลายล้านชิ้น เพื่อมอบให้กับพนักงานและผู้รับเหมา ที่ไม่สามารถทำงานอยู่ที่บ้าน แต่มีการสั่งซื้อจำนวนน้อยมาก ที่ได้รับการส่งมอบสินค้า หน้ากากยังขาดแคลนทั่วโลก”

นายเอียน โกลดิน (Ian Goldin) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกาภิวัตน์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่า “เมื่อเราพึ่งพากันมากขึ้น ตัวเราก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดเรือเกยตื้นกลางคลอง เช่นเดียวกับไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคจะมาจากไหน เราไม่สามารถจะคาดหมายการโจมตีทางไซเบอร์ในครั้งต่อไป หรือวิกฤติทางการเงินครั้งต่อไป แต่เรารู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น”

ตู้คอนเทนเนอร์กับการค้าโลก

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ The Box (2015) เขียนไว้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือ ทำให้โลกเราเล็กลง และเศรษฐกิจโลกใหญ่โตขึ้นมาก ตู้คอนเทนเนอร์ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1956 ในเวลานั้น จีนยังไม่ใช่โรงงานโลก เสื้อผ้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ฝรั่งเศส ยังไม่ตัดเย็บจากบังคลาเทศหรือเวียดนาม ก่อนยุคคอนเทนเนอร์ การขนส่งสินค้ามีค่าใช้จ่ายแพง แพงจนไม่คุ้มที่จะขนส่งสินค้าไปไกลครึ่งโลก

ความสำคัญของตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่การใช้ประโยชน์ในการขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์เป็นหัวใจสำคัญของระบบอัตโนมัติ การขนส่งสินค้าจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง มีต้นทุนน้อย และระบบการจัดการไม่ซับซ้อน จุดนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ท่าเรือไม่มีกองทัพคนงานที่ยกของขึ้นหรือลงจากเรืออีกต่อไป คอนเทนเนอร์ทำลายเศรษฐกิจท่าเรือแบบเก่า แต่ก็สร้างเศรษฐกิจท่าเรือแบบใหม่ขึ้นมาแทน

ตู้คอนเทนเนอร์ของเรือบรรทุกสินค้า จึงทำให้เกิดการปฏิวัติต่อการค้าโลก ลดเวลาการขนย้ายสินค้าจากรถไฟ มารถบรรทุก และสู่เรือบรรทุก การที่เรือบรรทุกสามารถลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ครั้งหนึ่งนับหมื่นตู้ ทำให้การค้าโลกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และยังช่วยส่งเสริมการผลิตเฉพาะด้านที่มีประสิทธิภาพ เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ในอังกฤษ สามารถพึงพาชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากเอเชีย สินค้าผู้บริโภคมีให้ขายทั่วโลก ในราคาถูก

แต่ความได้เปรียบของตู้คอนเทนเนอร์ ก็สร้างจุดอ่อนเช่นกัน การเดินเรือที่หยุดชงักในคลองซูเอซ ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมเรือบรรทุกแบกรับภาระมากขึ้นไปอีก ทั้งๆที่ก็มีภาระหนักมากอยู่แล้ว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ไม่ให้ออกจากบ้าน ทำให้คนอเมริกันต้องสะสมสินค้าจากเอเชีย และสินค้าด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อเปลี่ยนบ้านให้เป็นที่ทำงาน

การสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์เกิดขาดแคลนตามท่าเรือในจีน ค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ จากเอเชียไปอเมริกา เพิ่มขึ้นเท่าตัว ที่ท่าเรือลอสแอนเจลิส การขนย้ายสินค้าออกจากเรือ มีความล่าข้า เพราะคนงานท่าเรือติดปัญหาต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ความล่าช้าในการขนย้ายสินค้าออกจากเรือ ทำการขนสินค้าขึ้นเรือ ก็เกิดความล่าช้าเช่นกัน เหตุการณ์ในคลองซูเอซยิ่งทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ หายไปจากตลาดมากขึ้นไปอีก

นักวิเคราะห์การเดินเรือกล่าวว่า สถานการณ์การขาดตู้คอนเทนเนอร์จะเลวร้ายลงไปอีก การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เรือบรรทุกสินค้าจอดที่ท่าเรือนานขึ้น หากคลองซูเอซสามารถเปิดได้ตามปกติ จะทำให้เรือต่างๆแล่นมาถึงท่าเรือปลายทางพร้อมกันมากขึ้น ทำให้เรือแต่ละลำก็จะใช้นานขึ้นที่ท่าเรือ

เอกสารประกอบ
In Suez Canal, Stuck Ship Is a Warning About Excessive Globalization, March 26, 2021, nytimes.com
The Box, Marc Levinson, Princeton University Press, 2015.