แผนปราบ“บ.เทคโนโลยีจีน” ฉุดมาร์เก็ตแคป 8 แสนล้านดอลล์

แผนปราบ“บ.เทคโนโลยีจีน”  ฉุดมาร์เก็ตแคป 8 แสนล้านดอลล์

บริษัทเทคโนโลยีจีนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวจรัสแสงในระบบเศรษฐกิจ กำลังสูญเสียสถานะที่เคยโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจ โดยช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก

มูลค่าทางการตลาดของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน10แห่ง ซึ่งรวมถึง อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิงและเทนเซนต์ โฮลดิงส์ ดิ่งลงคิดเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 30% จากที่เคยพุ่งทะยานสูงสุดในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

คณะกรรมการนวัตกรรมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อคณะกรรมการ STAR เปรียบเหมือนตัวแทนบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน ระบุว่า ขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีจีนกำลังเผชิญกับภาวะขาลงในระดับที่รุนแรง หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของรัฐบาลจีน (State Administration for Market Regulation หรือ SAMR) เปิดเผยรายละเอียดแนวทางการควบคุมบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับพฤติกรรมผูกขาดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตลาด ยกตัวอย่างเช่น  จะมีการกำกับควบคุมเรื่องการใช้ข้อมูลและอัลกอริธึ่มของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่เพื่อครอบงำตลาด จะไม่ให้มีการกำหนดราคาสินค้าและบริการตามใจชอบ และจะไม่ให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีสิทธิ์ในการกำหนดช่องทางการขายของผู้ค้า เช่น จำกัดให้ขายผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา หรือเจดีดอทคอมแต่เพียงรายเดียว

เทนเซนต์ ซึ่งให้บริการแอพฯวีแชท เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่บอบช้ำมากที่สุดจากมาตรการปราบปรามบริษัทผูดขาดตลาดของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเมื่อวันอังคาร (25พ.ค.)ราคาหุ้นเทนเซนต์ร่วงลงกว่า20% ปิดตลาดที่ราคา 585.5 ดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก.พ.ที่ทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

     

        

แต่เทนเซนต์ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(27พ.ค.)ว่ามีกำไรสุทธิช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.อยู่ที่ 47,700 ล้านหยวน(7,440 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 65% จากปีก่อนหน้าสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับอาลีบาบาที่ในไตรมาสเดียวกันบริษัทประสบภาวะขาดทุนสุทธิเนื่องจากถูกปรับเงินก้อนโตฐานทำผิดกฏข้อบังคับด้านการปราบปรามบริษัทผูกขาดตลาดของรัฐบาลปักกิ่ง     

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ประกาศว่ารัฐบาลจีนจะติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่มีข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนมากและมีอิทธิพลต่อตลาด โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทอินเทอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด กวาดล้างพฤติกรรมการผูกขาดตลาด ส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรม และป้องกันการขยายทุนอย่างไร้ระเบียบ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังลงโทษนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบากรณีที่ออกมาวิจารณ์ระบบกำกับกฎระเบียบทางการเงินของจีนเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ปี2563 จนทำให้แอนท์ กรุ๊ป ถูกสั่งระงับการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่เดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะทำไอพีโอได้สูงถึง 37,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากอาลีบาบา เทนเซนต์และแอนท์ กรุ๊ปแล้ว เจดี ดอทคอม เหม่ยถวน และตีตี ชูสิง ต่างก็เป็นบริษัทที่ถูกทางการจีนควบคุมและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่นให้ทำตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจดทะเบียนในต่างประเทศ และควบคุมด้านการผูกขาดตลาดด้านข้อมูล รวมถึงการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

ธนาคารกลางจีน, หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารและประกันภัย, หน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดปริวรรตเงินตราของจีน ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดของจีนต้องปรับโครงสร้างธุรกิจการเงินให้เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อให้บริษัทเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งตัดความเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสมระหว่างบริการชำระเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่

มูลค่าทางการตลาดของอาลีบาบา เทนเซนต์ เหม่ยถวน และเจดีดอทคอม ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกงปรับตัวร่วงลงประมาณ 20% จากเมื่อวันที่ 17 ก.พ.มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ 13.5 ล้านล้านฮ่องกง (17,400 ดอลลาร์) ลดลงจาก 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง

ส่วนมูลค่าทางการตลาดของ“พินตัวตัว”, เว็บไซต์สืบค้นข้อมูล“ไป่ตู้”, แพลตฟอร์มให้บริการทางการเงิน“ ลูแฟ็กซ์”, “บิลลิบิลิ” เว็บไซต์วิดิโอสตรีมมิง และ“เน็ตอีสต์”แพลตฟอร์มเกม ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ปรับตัวลงประมาณ 150,00 ล้านดอลลาร์

ขณะที่รายงานวิเคราะห์จากเว็บไซต์บีบีซี ระบุว่า การเข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยีจีน รวมถึงกรณีของเทนเซนต์ อาจมีจุดจบคล้ายกับแอนท์ กรุ๊ป ที่ถูกทางการจีนบีบให้ต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เป็น “ไฟแนนเชียล โฮลดิง คัมพานี” เพื่อรวบรวมธุรกิจด้านการเงินที่มีอยู่อย่างหลากหลายเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแบงกิ้ง ประกัน และธุรกรรมการเงิน 

ท่าทีของรัฐบาลจีนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเกี่ยวกับเรื่องนี้สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐ สหภาพยุโรป(อียู) และออสเตรเลีย ที่เร่งเดินหน้าหาวิธีจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะมีอำนาจและผูกขาดตลาด

 “เฉิน สี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซีอาน เจียวทง ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เผยภาพความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในประเทศ ไปจนถึงอำนาจที่อาจสั่นคลอนความมั่นคงของชาติ ซึ่งไม่เพียงแค่จีนแต่เป็นความท้าทายระดับโลกกับการต้องรับมือกับการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ