เงินเฟ้อสหรัฐฯ .. ความเสี่ยงสำคัญที่กำหนดทิศทางตลาดการเงิน

เงินเฟ้อสหรัฐฯ .. ความเสี่ยงสำคัญที่กำหนดทิศทางตลาดการเงิน

ยังคงสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินและตลาดการเงินต่อเนื่องสำหรับ ประเด็นการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่มีทีท่าชะลอลงง่ายๆ เหมือนที่คาดกันไว้ก่อนหน้า 

โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. เร่งตัวขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 8 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 31ปี นับตั้งแต่ปี 1990 หรือหากพิจารณาจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับร้อยละ 4.6 ก็ยังนับว่าสูงอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อการเพิ่มขึ้นของราคาเริ่มกระจายไปยังไปราคาสินค้าอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์และไข่ (ร้อยละ 19) หรือ ผักและผลไม้ (ร้อยละ 6) 

นอกเหนือไปจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและผลของการเปิดเมือง เช่น กลุ่มรถยนต์มือสอง พลังงาน ค่าเช่าบ้าน และสันทนาการต่างๆ โดยแม้เศรษฐกิจจะไม่ร้อนแรงเท่ากับครึ่งปีแรกแล้ว แต่แนวโน้มเงินเฟ้อก็ยังไม่ชะลอตัวลงแต่อย่างใด

 

 นอกจากนี้การเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายๆ เดือน อาจจะเริ่มเปลี่ยนมุมมองของครัวเรือนและภาคธุรกิจและอาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เคยคาดไว้ได้ ในขณะที่นโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือหลักในการรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อนั้นอาจจะส่งผลกระทบได้อย่างจำกัดในสถานะการณ์ปัจจุบัน

เนื่องจากเน้นไปที่การควบคุมด้านอุปสงค์ (Demand) เป็นหลัก.. ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองให้ดี และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางของตลาดการเงินในปีหน้าหรืออาจจะต่อเนื่องไปหลังจากนั้นก็ได้ ...

ความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อประเด็นแรก เป็นเรื่องของความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินที่อาจเพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือธนาคารกลางอาจจะมีเวลาสื่อสารน้อย โดยเฉพาะหากว่าสุดท้ายแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เช่น การเร่งลดวงเงินการเช้าซื้อพันธบัตรเพื่อจะได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น ย่อมไม่ส่งผลดีต่อตลาดการเงิน โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด คณะกรรมการฯ ยังคงมั่นใจว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว (ประมาณการดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล หรือ Core PCE ไว้ที่ร้อยละ 4.5 และ 2.2 ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ)

ในขณะที่นางเจเน็ต เยลเลนรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังยืนยันว่าทางการจะดูแลไม่ให้ปัญหาเงินเฟ้อลุกลามเหมือนช่วงยุคทศวรรษ 1970 (The Great Inflation) ที่เศรษฐกิจประสบกับปัญหา Stagflation เป็นระยะเวลานานหลายปี หลังจากภาครัฐฯ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันจากวิกฤตราคาพลังงาน (OPEC Embargo) โดยปัจจุบันธนาคารสหรัฐฯ เริ่มลดความผ่อนคลายนโยบายการเงินลงแล้ว ด้วยการเริ่มทยอยลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ลงและอาจต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ในขณะที่นักลงทุนคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยสองครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022

นอกจากนั้นยังต้องจับตามองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อภาคเศรษฐกิจเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นชั่วคราวจริงหรือไม่ ส่งผลให้เริ่มเปลี่ยนการคาดการเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) อย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มแรกคือกลุ่มแรงงานที่คาดว่าจะเรียกร้องค่าแรงที่มากขึ้น เนื่องจากการดำรงชีวิตประจำวันมีต้นทุนที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน ที่อยู่อาศัย และราคาอาหารต่างๆ และในภาวะปัจจุบันที่แรงงานในบางส่วนยังคงขาดแคลนและมีความไม่สมดุล อาจจะหนีไม่พ้นทำให้ภาคธุรกิจต้องผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ต้นทุนด้านแรงงานที่มากขึ้น และสุดท้ายแรงงานก็ต้องการค่าจ้างที่มากขึ้นอีก ต่อเนื่องกันไป ก่อให้เกิดเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจศาสตร์ที่เรียกว่า The Wage-Price Spiral และแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐฯ และธนาคารการไม่อยากให้เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน หากต้นทุนสินค้ามีท่าทีที่จะเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานาน ภาคธุรกิจก็จำเป็นจะต้องปรับราคาขึ้น แม้การเปลี่ยนแปลงด้านราคาจะมีต้นทุน (Menu Cost) แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จำเป็นจะต้องปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเงินเฟ้อดูท่าที่จะไม่ลดลงง่ายๆ นั่นเอง

ณ ปัจจุบันอาจจะยังเป็นที่ถกเถียงว่าเงินเฟ้อจะชั่วคราวหรือถาวร โดยมองไปในอนาคต เราอาจจะต้องจับตาดู 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ตลาดแรงงานและความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อ ซึ่งดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงาน ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Phillips Curve นั้นอาจจะใช้อธิบายภาวะในปัจจุบันได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก (2) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ของ ปธน. โจ ไบเด็น เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนต่อการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และอาจจะมากกว่านโยบายของภาครัฐโดยเฉลี่ยในช่วงที่ผ่าน เช่น การแจกเงินช่วยเหลือ และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ในท้ายที่สุด และสุดท้าย (3) ปัจจัยเรื่องของการคาดการณ์เงินเฟ้อของครัวเรือนและธุรกิจที่อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริโภค การเรียกร้องค่าจ้าง การตั้งราคาสินค้าต่างๆ ในอนาคตนั่นเอง

ในแง่ของการลงทุนในช่วงนี้ สินทรัพย์ทั้งบอนด์ หุ้น และทองคำ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการคาดการนโยบายเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินทั้งสิ้น โดยหลังจากที่แรงกดดันเงินเฟ้อต่ำมาเป็นระยะเวลานาน ช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้ออาจทำให้ตลาดการเงินปรับตัวช้า และอาจส่งผลอย่างรุนแรงได้ ซึ่งความผันผวนจากปัจจัยเรื่องของเงินเฟ้อน่าจะยังคงมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยก็ในปี 2022 และทำให้เรายังคงต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อโดยเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดกันต่อไปครับ