เปิดนวัตกรรม-แผนแก้ไขวิกฤติโลกร้อนอิสราเอล

เปิดนวัตกรรม-แผนแก้ไขวิกฤติโลกร้อนอิสราเอล

เปิดนวัตกรรม-แผนแก้ไขวิกฤติโลกร้อนอิสราเอล และสำหรับบางประเทศรวมถึงประเทศไทย การนำนวัตกรรมของอิสราเอลมาใช้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ประชาชนก็ได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน"

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่สนใจเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงอดไม่ได้ที่จะกังวลถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อสิบปีก่อน เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบเจ็ดสิบปี

และเมื่อพ.ศ.2562 แม้จะอยู่ในฤดูมรสุม แต่ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทางภาคเหนือของประเทศ ก็มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น

ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิสราเอล และประเทศต่างๆ ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาไฟป่า ประชาชนจำนวนมากในจีน เยอรมนี และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก ต้องเสียชีวิตจากอุทกภัย ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงเหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วโลก

ภัยพิบัติข้างต้น ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ไม่เพียงเป็นสัญญาณเตือนเราเท่านั้น หากแต่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความเร่งด่วน ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และการดำเนินเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
 

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศเล็กๆ อย่างอิสราเอลได้ตัดสินใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อิสราเอลวางนโยบายส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

โดยรัฐบาลอิสราเอลได้ผ่านญัตติลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย  85% ภายในปี 2593 ซึ่งจะเริ่มจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้  27% ภายในปี 2573  การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ คือการปฏิบัติตามคำสัญญาที่อิสราเอลได้ให้ไว้ต่อประชาคมโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อิสราเอลได้ระบุขั้นตอนการดำเนินงานอย่างมีแบบแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น การลงทุนซื้อรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ติดตั้งสถานีเติมพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ลงทุนเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ เอกชน ฯลฯ

นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อันเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน เช่น เทคโนโลยีการอัดอากาศ การผลิตพลังงานจากคลื่นในทะเล และการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ระดับสูงสำหรับการจัดการพลังงาน
 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้  20-25% ภายในปี 2573 เมื่อมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเช่นนี้ อิสราเอลเชื่อมั่นว่าจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของประเทศไทย เพราะการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกัน

อิสราเอลมีชื่อเสียงเรื่องความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอาหาร หรือการจัดการน้ำ อาทิ การสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เครื่องผลิตน้ำดื่มจากอากาศ หรือความสามารถในการทำการเกษตรในทะเลทราย

การค้นพบล่าสุดของอิสราเอล คือการพัฒนาโปรตีนทางเลือก นั่นคือการผลิตอาหารประเภทเนื้อ นม และไข่ ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้กระบวนการที่แทบจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย

ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการเช่นนี้ ยังสามารถช่วยให้นำที่ดินปศุสัตว์ไปใช้เพื่อการเพาะปลูก อันจะส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศและเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไปพร้อมกัน

สำหรับบางประเทศรวมถึงประเทศไทย การนำนวัตกรรมของอิสราเอลมาใช้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ประชาชนก็ได้รับประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตรของไทย ดังนั้นเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำของอิสราเอล เช่น ระบบน้ำหยด หรือเซ็นเซอร์ที่สามารถระบุเวลาที่พืชต้องการน้ำ อาจเป็นทางออกของปัญหา ซึ่งจะเป็นหนทางสู่เกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไทยผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

ปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือการร่วมมือกัน การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ รวมไปถึงการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้คณะผู้แทนจากอิสราเอล นำโดย นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม นางทามาร์ แซนด์เบิร์ก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางคารีน เอลฮาราร์ จะเข้าร่วม “การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค. ถึง 12 พ.ย.ที่เมืองกลาสโกว์

แม้จะเป็นความจริงที่น่ากลัวว่า เราอาจจะไม่สามารถหยุดวิกฤตินี้ได้ทันเวลา แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรละทิ้งความหวัง อิสราเอลภูมิใจที่ได้เริ่มลงมือและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นยิ่งนี้ ทั้งยังร่วมมือกับประเทศอื่นๆ แบ่งปันความเชี่ยวชาญด้วย