ระบบ 'ซิเคียวริตี้ด้านข้อมูล' ในไทยสะพัด ลงทุนพุ่ง 1.3 หมื่นล.

ระบบ 'ซิเคียวริตี้ด้านข้อมูล' ในไทยสะพัด ลงทุนพุ่ง 1.3 หมื่นล.

คาดการณ์การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการความเสี่ยงของประเทศไทยโต 7.7% ในปี 2564 มูลค่าแตะที่ 13.7 พันล้านบาท ซิเคียวริตี้บนคลาวด์ ยอดใช้จ่ายพุ่ง 200% ขณะที่ การใช้จ่ายด้านซิเคียวริตี้ทั่วโลกทะลุ 1.5 แสนล้านดอลลาร์

การ์ทเนอร์คาดการณ์การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการความเสี่ยงของประเทศไทยจะเติบโต 7.7% ในปี 2564 มีมูลค่าแตะที่ 13.7 พันล้านบาท ความปลอดภัยบนคลาวด์เติบโตสูงสุดกว่า 200% หรือ 198 ล้านบาท  รองลง มา คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการที่มียอดลงทุนเพิ่ม 28% หรือราว 456 ล้านบาท 

ขณะที่ คาดการณ์การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและการจัดการความเสี่ยงทั่วโลกปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 12.4% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 150.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่องจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2563 ที่ 6.4%

นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ระบุอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งสะท้อนถึงความต้องการเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับคนทำงานระยะไกลและการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์อย่างต่อเนื่อง

"องค์กรต่าง ๆ ต้องรับมือกับความต้องการด้านความปลอดภัยและกฎข้อบังคับของระบบคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) และบริการด้านซอฟต์แวร์ (Software as a Service)" มร. ลอว์เรนซ์ ปิงกรี รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวและเสริมว่า

"จากนี้ไปเราจะเห็นสัญญาณของตลาดในช่วงต้นของระบบอัตโนมัติที่กำลังเติบโตและการนำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้เพื่อสนับสนุนความปลอดภัยของ AI เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ โดยองค์กรต่าง ๆ จะขยายและกำหนดมาตรฐานการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามเหล่านั้น"

จากการสำรวจ Gartner 2021 CIO Agenda Survey พบซีไอโอ 61% จากทั้งหมดกว่า 2,000 ราย ระบุว่าความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับการใช้จ่ายใหม่ ๆ ขององค์กร และมีการลงทุนด้านไซเบอร์ / ความปลอดภัยของข้อมูลเพิ่มขึ้นในปีนี้

บริการรักษาความปลอดภัยรวมถึงการให้คำปรึกษา การสนับสนุนด้านฮาร์ดแวร์ การติดตั้งและบริการเอาท์ซอร์สคือการใช้จ่ายกลุ่มใหญ่ที่สุดในปี 2564 มีมูลค่าเกือบ 72.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั่วโลก

กลุ่มตลาดที่เล็กที่สุดแต่มีการเติบโตเร็วที่สุดคือความปลอดภัยบนคลาวด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวกลางการรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงคลาวด์ หรือ แคส-บี (CASB)

"อัตราการสอบถามจากลูกค้าอย่างรวดเร็วบ่งชี้ว่า CASB เป็นตัวเลือกยอดนิยมขององค์กรที่ใช้คลาวด์ เนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ใช่พีซีกับการทำงานร่วมกับกระบวนการทางธุรกิจหลัก ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่สามารถบรรเทาลงได้ด้วยประสิทธิภาพของ CASB นอกจากนั้น CASB ยังช่วยให้การตอบโต้ระหว่างแอปพลิเคชัน SaaS และอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการทำได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น" มร. ปิงกรีกล่าวเสริม

เทคโนโลยีการจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ (IRM) ยังเติบโตอย่างมั่นคงด้วยตัวเลขสองหลักซึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงในช่วงวิกฤตการระบาดใหญ่ทั่วโลก

นายจอห์น วีลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์กล่าวว่า "ขอบเขตความเสี่ยงที่สำคัญในการผลักดันอุปสงค์ในช่วงเวลาใกล้ ๆ นี้ได้แก่การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลใหม่ ๆ การใช้งานด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเสี่ยงจากบุคคลที่สาม เช่น การละเมิดข้อมูลของลูกค้าหรือการโจมตีซัพพลายเชน"