รัฐเทกระเป๋าเยียวยา 'ก๊อกสุดท้าย' เงินกู้สู้โควิด

รัฐเทกระเป๋าเยียวยา 'ก๊อกสุดท้าย' เงินกู้สู้โควิด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้วที่ไวรัสชนิดนี้สร้างผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงส่งผลต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และปากท้องผู้คนอย่างมาก

แต่ละประเทศมีการเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณและเม็ดเงินจากแหล่งต่างๆเพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น

ประเทศไทยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 โดย 1 ใน 3 ฉบับคือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 

โดยเม็ดเงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้ไปกับการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนจากการระบาดของโควิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผ่านการระบาดของโควิด 3 ระลอกใหญ่ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากโควิดระลอกเดือน เม.ย.2564 และเตรียมมาตรการต่อเนื่องหลังจากที่โควิดคลี่คลายทำให้วงเงินที่เหลืออยู่ตาม พ.ร.ก.เงินกู้นั้นมีการอนุมัติโครงการเกือบเต็มวงเงินทั้ง 1 ล้านล้านบาทแล้ว 

รายละเอียดของการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้นในตอนแรกได้แบ่งการใช้จ่ายเงินกู้ออกเป็น 4 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงาน/โครงการที่ 1 ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแผนงานนี้ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค.64 มีการอนุมัติโครงการจาก ครม.แล้ว42 โครงการ วงเงินรวม 2.58 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินอีกประมาณ 1.91 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ในส่วนนี้ต้องกันไว้สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขไม่สามารถโยกไปใช้จ่ายในรายการอื่นได้

2.แผนงาน/โครงการเพื่อชดเชยเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน วงเงินที่ตั้งไว้เดิมคือ 6 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากการเยียวยาประชาชนเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 1 และ 2 มีความต้องการใช้เงินในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก โดยตามข้อกฎหมายใน พ.ร.ก.ได้เปิดช่องให้มีการโยกเอาเงินจากส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในแผนงาน/โครงการที่ 3 มาใช้ในส่วนนี้ได้

โดยในการระบาดระลอกที่ 2 คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานได้เสนอ ครม.ให้มีการโยกเงินกู้ส่วนดังกล่าวมาแล้ว 4.5 หมื่นล้านบาท (อนุมัติวันที่ 19 ม.ค. และ 15 ก.พ.)ทั้งนี้ ณ วันที่ 3 พ.ค.มีการอนุมัติโครงการในแผนงานที่ 2 ไปแล้ว 9 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 5.9 แสนล้านบาททำให้เงินกู้ในแผนงาน/โครงการนี้เหลือเพียง 1.1 พันล้านบาทเศษ

3.แผนงาน/โครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 วงเงินรวม 3.55 แสนล้านบาท ณ วันที่ 3 พ.ค.64 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 232 โครงการ วงเงิน 1.38 แสนล้านบาท คงเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้อนุมัติประมาณ 2.16 แสนล้านบาท

และ 4.แผนงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้มีการตั้งกรอบวงเงินที่จะใช้เงินกู้ และยังไม่มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ

จากการเกิดการแพร่ระบาดรอบล่าสุด สศช.ได้รับมอบหมายให้จัดทำมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยมีการคำนวณวงเงินที่ต้องใช้เบื้องต้นประมาณ 9.67 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การปรับปรุงมาตรการ "โครงการเราชนะ" เพิ่มเงินให้คนละ 2,000 บาท วงเงินรวม 6.7 หมื่นล้านบาท

2.การปรับปรุง "โครงการ ม.33 เรารักกัน" เพิ่มเงินให้ผู้รับสิทธิ์อีกคนละ 2,000 บาท วงเงินรวม 1.17 หมื่นล้านบาท

และ 3.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนลดค่าน้ำ - ค่าไฟ เป็นเวลา 2 เดือน วงเงินรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการที่ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วมีกรอบเงินกู้เหลือจ่าย 1.13 หมื่นล้านบาท ทำให้จำเป็นต้องโยกเงินจากแผนงาน/โครงการที่ 3 ไปใช้ในแผนงาน/โครงการที่ 2 การเยียวยาประชาชนอีก 8.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้วงเงินกู้ที่ภาครัฐมีอยู่ซึ่งคงเหลือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แต่เมื่อรวมกับโครงการที่ ครม.มีการอนุมัติไปแล้วได้แก่ โครงการเพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน มาตรการลดค่าครองชีพค่าน้ำ-ค่าไฟให้กับประชาชนซึ่งใช้วงเงินกว่า 9.67 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่รอการอนุมัติและใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯอีกหลายโครงการในระยะต่อไป วงเงินรวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค. - ธ.ค.ปีนี้ ได้แก่  

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน วงเงินประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาท  

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน วงเงินประมาณ 3 พันล้านบาท 

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

1.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการนี้ทุกท่านคงมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง เบื้องต้นโครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงินประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท 

2. โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ ซึ่งโดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงินคนละไม่เกิน 7,000 บาทเป้าหมาย 4 ล้านคนวงเงินประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท 

162096790711 จะเห็นได้ว่าเมื่อรวมวงเงินทั้งมาตรการระยะเร่งด่วนในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด และมาตรการระยะต่อไปที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป วงเงินที่มีอยู่ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้นมีแผนการใช้เงินที่เกือบเต็มวงเงินทั้งหมดแล้ว 

เมื่อ “กระเป๋าเงินกู้หมดลง” หากรัฐบาลต้องออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งในระยะสั้น และระยะต่อไป รวมถึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือแหล่งเงินที่จะรองรับมาตรการต่างๆ

...ไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งเงินงบประมาณหรือกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่หน่วยงานเศรษฐกิจจะต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ