เจ้าหนี้รื้อ ’แผนฟื้นฟู’ การบินไทยขอเลื่อนโหวต 19 พ.ค.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ประชุมเจ้าหนี้การบินไทยยังไร้ข้อสรุป เลื่อนโหวตรับแผนฟื้นฟูไป 19 พ.ค.นี้ เจ้าหนี้ 14 ราย แห่ยื่นแก้ไขแผนหวังได้ชำระเงินคืนครบ

ประชุมเจ้าหนี้การบินไทยยังไร้ข้อสรุป เลื่อนโหวตรับแผนฟื้นฟูไป 19 พ.ค.นี้ เจ้าหนี้ 14 ราย แห่ยื่นแก้ไขแผนหวังได้ชำระเงินคืนครบ "ออมสิน" ชงกันเงินสำรองไว้จ่ายหนี้ "สหกรณ์" ขอแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน ขอเพิ่มดอกเบี้ยหุ้นกู้ปีที่ 9 เป็น 4% ชี้ เจ้าหนี้เช่าซื้อเครื่องบินขอหลักประกันหนี้ 100% "ชาญศิลป์" รับข้อเสนอเจ้าหนี้ที่ตรงกับแผนฟื้นฟู เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) วานนี้ (12 พ.ค.) เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการยื่นขอแก้ไขทั้งการบินไทยเอง และเจ้าหนี้ 15 ราย ยื่นขอแก้ไขแผนเพื่อสร้างหลักประกันถึงการได้รับชำระหนี้คืน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหนี้การบินไทยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ยังไม่ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการ และวาระการแต่งตั้งกรรมการเจ้าหนี้ โดยเลื่อนไปลงมติวันที่ 19 พ.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

สำหรับสาเหตุการดังกล่าวเพราะการหารือวาระที่ 1 การรับรองแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการมีเจ้าหนี้ 14 ราย รวมผู้ทำแผนเป็น 15 ราย คิดเป็น 0.1% ของเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.3 หมื่นราย ยื่นขอแก้ไขแผน และมีรายละเอียดมากทำให้มีเวลาพิจารณาน้อย ซึ่งส่งผลให้เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์และเจ้าหนี้รายอื่นรวม 20 ราย ขอเลื่อนการลงมติ ซึ่งทำได้ตามกฎหมาย

"ข้อเสนอจากเจ้าหนี้ในเบื้องต้นข้อที่ตรงกับแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว และการบินไทยทำได้ก็รับฟังไว้ว่าจะนำไปดำเนินการแก้ไข แต่มีหลายเรื่องที่ทำไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูจะดำเนินการหรือไม่ ไม่ใช่การบินไทยต้องตัดสิน แต่เป็นเจ้าหนี้จะต้องลงมติโหวตวันที่ 19 พ.ค.นี้"


นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การที่เจ้าหนี้ขอเลื่อนการโหวตไม่เกินความคาดหมาย เพราะกฎหมายให้อำนาจเจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้รวม 10% ขอเลื่อนโหวตได้ อีกทั้งต้องยอมรับว่าเจ้าหนี้ได้รับข้อมูลการแก้ไขแผนฟื้นฟูจำนวนมากและมีเวลาศึกษารายละเอียดกระชั้นเกินไป

สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้มีคำถามจากเจ้าหนี้ที่การบินไทยต้องชี้แจงมากกว่า 50–60 คำถาม และชี้แจงคครบทุกประเด็น โดยเชื่อว่าการประชุมเจ้าหนี้วันที่ 19 พ.ค.นี้ จะใช้เวลาไม่มาก เพราะได้ความชัดเจนหลายประเด็นแล้ว โดยการหารือครั้งหน้าจะพิจารณา คือ ผู้จัดทำแผนแก้ไขแผนตามที่เจ้าหนี้เสนออย่างไร และดำเนินการโหวตรับรองแก้ไขแผนฟื้นฟู หลังจากนั้นจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ และผู้บริหารแผนฟื้นฟู

"ยอมรับว่าการทำแผนฟื้นฟูกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ทำงานร่วมกับเจ้าหนี้ พบว่ามีมุมมองต่างกันแต่ในภาพรวมที่มีการเจรจา เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการช่วยให้การบินไทยไปต่อ ทำธุรกิจต่อไปได้ เพราะคาดแล้วว่าธุรกิจของการบินไทยจะกลับมาทำการบินในปลายปีนี้"


แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า ข้อเสนอเจ้าหนี้ทั้ง 14 ราย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการขอเพิ่มดอกเบี้ย ซึ่งการบินไทยทำไม่ได้เพราะปัจจุบันไม่มีรายได้เข้ามาเหมือนสถานการณ์ปกติ และมีหนี้ 1.6 แสนล้านบาท เมื่อรวมหนี้สินระยะยาวมีมากกว่า 4.1 แสนล้านบาท แต่ข้อเสนอของเจ้าหนี้เรื่องการปรับแผนดำเนินธุรกิจ หรือข้อเสนอที่สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูก็รับไว้ไปปรับปรุงในแผน

สำหรับคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 15 ฉบับ โดยหลังจากเจ้าหนี้ยื่นขอแก้ไขแผนแต่ละรายได้ชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ที่เข้าประชุม 20 ราย ซึ่งมีจำนวนหนี้ตามมาตรา 90/47 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้ขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนออกไป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 19 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการและการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ


แหล่งข่าวเจ้าหนี้การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการและขอแก้ไขแผนบางประเด็น เช่น การขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้หุ้นกู้จาก 6 ปี เป็น 8 ปี ซึ่งการบินไทยที่หนี้หุ้นกู้ประมาณ 70,000 ล้านบาท รวมทั้งการขอเปลี่ยนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเป็นนายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง แทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ที่เกษียณอายุราชการ และกระทรวงการคลังเสนอผู้แทนคนใหม่

นอกจากนี้ การบินไทย เสนอแก้ไขในส่วนการปรับโครงสร้างทุน การลดทุนและการเพิ่มทุน โดยภายใน 60 วันนับจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน การบินไทยจะลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989 ล้านบาท เหลือ 21,827 ล้านบาท โดยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516 ล้านหุ้น หลังจากนั้น จะเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 196,449 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 219,277 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวมทั้งจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีใช่สถาบันการเงิน) หรือผู้รับโอนสิทธิซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาท ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ในราคาเดียวกัน


ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการเป็นเรื่องของคณะจัดทำแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่จะต้องหารือร่วมกัน ดังนั้น กระทรวงการคลังจะรอผลการโหวตในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ส่วนกรณีการนำการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ยังให้คำตอบไม่ได้แต่ยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 พ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอหนึ่งที่ฝั่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการก็คือ ขอให้กระทรวงการคลัง เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ต้นทุนเงินกู้ต่ำลง ซึ่งจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยมีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งการที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยได้นั้น ภาครัฐต้องเพิ่มทุนในการบินไทยให้มากกว่า 50% จากปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้น 47.86% เมื่อรวมหุ้นของธนาคารออมสิน 2.13%รวมเป็นรัฐถือหุ้น 49.99% เพื่อให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ได้