'คนละครึ่ง' เฟส 3 ลุ้น! ครม.อัด 1.4 แสนล้าน เคาะวันนี้ พร้อม 'ยิ่งใช้ยิ่งได้'

'คนละครึ่ง' เฟส 3  ลุ้น! ครม.อัด 1.4 แสนล้าน เคาะวันนี้ พร้อม 'ยิ่งใช้ยิ่งได้'

สุพัฒนพงษ์ เผยคลังชงแพ็คเกจเยียวยา-พยุงเศรษฐกิจเข้า ครม.วันนี้ 1.4 แสนล้าน จับตา “คนละครึ่ง" เฟส 3 และ "ยิ่งใช้ยิ่งได้” หนุนจีดีพีโต 1.5-2.5% เตรียมเร่งสปีดลงทุนรัฐและเอกชนในครึ่งปีหลัง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (1 มิ.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ระยะที่ 2 ซึ่งชุดมาตรการจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 กรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มั่นใจเม็ดเงินทั้งจากรัฐบาลและประชาชนจากโครงการเยียวยาที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงที่เหลือปีนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.5-2.5% ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ 

สำหรับรายละเอียดของมาตรการที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณา ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ 

1.มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 หรือ คนละครึ่ง เฟส 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย  31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน โดยโครงการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงผู้ประกอบการขนาดกลางจะประโยชน์จากการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น

2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยจะมีผู้ร่วมโครงการ 4 ล้านคน (จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ 6 ล้านคน)  โดยภาครัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐช่วง ก.ค.-ก.ย.2564 เพื่อใช้จ่ายเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งจะมีการใช้จ่ายคนละ 60,000 บาท ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้ 2.4 แสนล้านบาท ส่วนภาครัฐจะใช้เงินในโครงการนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท 

3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 โดยช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท 

4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบ 3,000 ล้านบาท 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจมีหลายส่วนที่สัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งเดือน เม.ย.การส่งออกที่ไม่รวมทองคำขยายตัวถึง 25% ทำให้เห็นจุดแข็งของซัพพลายเชนไทยหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งออกสูงติดต่อกันหลายเดือน และการส่งออกเป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ 

สำหรับการลงทุนภาครัฐและลงทุนภาคเอกชนต้องพยายามขับเคลื่อนการลงทุนมากที่สุด ซึ่งการลงทุนภาครัฐต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย และงบประมาณลงทุนภาครัฐไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีไม่น้อยกว่า 85% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจต้องทำได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนแผนงานและโครงการตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ต้องเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินกู้ตามที่ สศช.เสนอแนะไว้

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นมาก โดยไตรมาส 1 ปีนี้ คำขอส่งเสริมการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานมูลค่าเพิ่มขึ้น 80% ซึ่งรัฐบาลจะพยายามผลักดันภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เร่งลงทุนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต รวมทั้งจะเน้นชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เมดิคัลฮับ รถยนต์ไฟฟ้า 

“มาตรการที่ ครม.จะอนุมัติ 1.4 แสนล้านบาท รวมกับการใช้จ่ายของประชาชนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวตามกรอบที่ สศช.คาดการณ์แต่จะถึง 2.5% หรือไม่ประเมินยากถึงแม้รัฐบาลจะประเมินไว้ว่าจะควบคุมระลอก 3 ได้ในเดือน ก.ค.นี้ แต่ต้องระวังระลอก 4 ซึ่งก็ขอให้ไม่มีเกิดขึ้น”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว