‘ดาวโจนส์’ปิดบวก 237 จุดเหตุตัวเลขเงินเฟ้อไม่กระทบตลาด

‘ดาวโจนส์’ปิดบวก 237 จุดเหตุตัวเลขเงินเฟ้อไม่กระทบตลาด

‘ดาวโจนส์’ปิดบวก 237 จุดเหตุตัวเลขเงินเฟ้อไม่กระทบตลาด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันศุกร์ (25 มิ.ย.)ปรับตัวขึ้น 237 จุด โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีเงินเฟ้อสำคัญพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 237.02 จุดหรือ 0.7% ปิดที่ 34,433.84 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 1.3% ปิดที่

4,280.70 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 0.1% ปิดที่ 14,360.39 จุด

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 3.2% ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้น 2.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเทียบรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนเม.ย. ส่วนดัชนีแนสแด็ก ดีดตัวขึ้น 2.6% เช่นกัน

หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับรายงานที่ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ทั้ง 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ธนาคารดังกล่าวสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.

หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

ทำเนียบขาวระบุว่า มาตรการดังกล่าวรวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณครั้งใหม่วงเงิน 5.79 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะรวมทั้งโครงการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2535 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีพีซีอีพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6%

ส่วนดัชนี พีซีอีทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีซีอีทั่วไปพุ่งขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2561

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นดังกล่าวถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการปิดเศรษฐกิจ หลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุก่อนหน้านี้ว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และจะผ่อนคลายลงในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต

ทั้งนี้ ดัชนีพีซีอีถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) จากกระทรวงแรงงาน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐทรงตัว หรือเพิ่มขึ้น 0% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย.

รายได้ส่วนบุคคลลดลง 2% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.7%

ทั้งนี้ การใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคลได้ชะลอตัวลง หลังจากที่พุ่งขึ้นก่อนหน้านี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนอัตราการออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 12.4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 14.5% ในเดือนเม.ย.

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าระดับ 82.9 ในเดือนพ.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 86.5

ดัชนีปรับตัวขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงาน

ดัชนีคาดการณ์ในอนาคตดีดตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. ขณะที่ดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวลงเล็กน้อย

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล