ศบศ.ลุยใข้เงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยธุรกิจจ่ายเงินเดือน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ศบศ. เร่งเคาะมาตรการพยุงการจ้างงาน ช่วยผู้ประกอบการระดับกลาง ใช้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท สศช.วาง 3 เงื่อนไข อุดหนุนการจ้างงาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) วันที่ 4 มิ.ย. จะพิจารณามาตรการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดจากโควิดในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้จำนวนมาก 

"ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในซัพพลายเชน โดยไปหารือสถาบันการเงินให้ช่วยให้สินเชื่อซึ่งก็เป็นทิศทางที่ดี แต่มาตรการภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มในการช่วยเหลือพยุงการจ้างงานจะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยากซึ่งในกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม 

นอกจากนี้ สศช.ได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ข้อสรุปในแนวทางร่วมกันว่ามาตรการที่จะออกมาจะเป็นลักษณะของการช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงานหรือการช่วยจ่ายเงินเดือน ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่าจะช่วยเหลือในสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือนและจ่ายในระยะเวลาเท่าไหร่ โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีหลักการที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 
1.เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่ 
2.เป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ ไม่ได้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด 
3.เป็นกิจการหรือธุรกิจที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง 

“การช่วยเหลือในลักษณะนี้จะเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจะจงโดยช่วยจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือน เพื่อช่วยรักษาและพยุงการจ้างงานในสถานประกอบการต่างๆ อาจเป็นการช่วยในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน"