ส่อง 10 อันดับ ‘หุ้นไทย’ ต่างชาติซื้อสูงสุด AOT ครองแชมป์

ส่อง 10 อันดับ ‘หุ้นไทย’ ต่างชาติซื้อสูงสุด AOT ครองแชมป์

หุ้นไทยต้นเดือน มิ.ย.64 ซื้อขายเหนือ 1,600 จุด วอลุ่มหนาแน่น 8.18 แสนล้าน ฝั่งนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 7.4 พันล้าน พบฟันด์โฟลว์ไหลเข้าซื้อ AOT หนักสุด 1.6 พันล้าน

ตลาดหุ้นไทยต้นเดือน มิ.ย. (1-11 มิ.ย.2564) มีปริมาณการซื้อขายรวม 2.7 แสนล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 8.18 แสนล้านบาท โดยระหว่าง 8 วันทำการที่ผ่านมา ดัชนีหุ้น SET (SET Index) ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,636.56 จุด และต่ำสุดที่ 1,611.53 จุด

ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศมียอดซื้อสุทธิสูงสุดที่ 7,447.39 ล้านบาท รองลงมาคือนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ซื้อสุทธิ 479.28 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันมียอดขายสุทธิ 1,827.18 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยในประเทศขายสุทธิ 6,099.48 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิสะสมอีกครั้ง แต่มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังเป็นยอดขายสุทธิสะสมที่ 5.87 หมื่นล้านบาท

เมื่อพิจารณาข้อมูลการซื้อขายของ เอ็นวีดีอาร์ (NVDR) หรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนชาวต่างประเทศ พบว่า ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 4,289.89 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 3.82 หมื่นล้านบาท

โดย 10 อันดับหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสูงสุด แบ่งตามปริมาณการซื้อขาย ได้แก่

บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) 296.97 ล้านหุ้น

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 123.12 ล้านหุ้น

บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) 116.05 ล้านหุ้น

บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) 103.55 ล้านหุ้น

บมจ.บ้านปู (BANPU) 73.27 ล้านหุ้น

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) 69.01 ล้านหุ้น

บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) 60.71 ล้านหุ้น

บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ (SITHAI) 46.67 ล้านหุ้น

บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) 44.86 ล้านหุ้น

บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น (TWZ) 38.49 ล้านหุ้น

ส่วน 10 อันดับหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสูงสุด แบ่งตามมูลค่าการซื้อขาย ได้แก่

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 1,651.30 ล้านบาท

บมจ.บ้านปู (BANPU) 1,120.37 ล้านบาท

บมจ.ปตท. (PTT) 673.00 ล้านบาท

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 512.61 ล้านบาท

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 500.66 ล้านบาท

บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) 471.59 ล้านบาท

บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) 448.65 ล้านบาท

บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) 435.09 ล้านบาท

บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 430.90 ล้านบาท

บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) 402.49 ล้านบาท

162350381225

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่การติดเชื้อหลายประเทศฝั่งเอเชียลดลงจากการกระจายวัคซีน ส่งผลให้กระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ต่างชาติเริ่มทยอยไหลกลับมาตลาดหุ้นฝั่งเอเชียตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังฟื้นตัวน้อยกว่าภูมิภาค แต่ยังมีโอกาสปรับขึ้น (Upside) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น

โดยนักวิเคราะห์ประเมิน SET Index สัปดาห์หน้าจะแกว่งตัวในกรอบระหว่าง 1,600-1,660 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์อาจปรับตัวขึ้นก่อน แล้วจึงย่อตัวลงเพื่อติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่มองเป็นจังหวะในการเข้าซื้อสะสมหุ้นกลุ่มเปิดเมืองและหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคายังปรับขึ้นไม่มาก (แลกการ์ด)