“3 ป.- ส.ว." เบ็ดเสร็จ “ปิดสวิตช์”แก้รัฐธรรมนูญ

“3 ป.- ส.ว." เบ็ดเสร็จ  “ปิดสวิตช์”แก้รัฐธรรมนูญ

ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ของ พลังประชารัฐ​ ที่เกิดปรากฎการณ์ ไร้เงา "ส.ว." ลงมติ "รับหลักการ" สะท้อนให้เห็น อำนาจที่ทรงพลังของ "3ป." ที่ควบคุม- สั่งการ สภาสูงได้แบบเบ็ดเสร็จ จากเรื่องนี้ ต้องจับตาการเผชิญหน้า กับ "ฝ่ายการเมือง" ในสภาหินอ่อนให้ดี

       ปรากฎการณ์สมาชิกวุฒิสมาชิก หรือ “ส.ว.” ที่พร้อมใจคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ “ส.ส.” จำนวน 12 ฉบับ จากทั้งหมดที่เสนอญัตติเข้าสู่การพิจารณา 13 ฉบับ สะท้อนให้เห็นพลังทางการเมืองของ “สภาสูง” ที่มีอิทธิฤทธิ์ควบคุมและกำกับการทำงานของ “สภาล่าง” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

       และพลังที่ว่านั้น ถูกฉายเป็นเงาที่ทอดยาวมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หนึ่งในขั้วอำนาจ “3 ป.” อย่างปฏิเสธได้ยาก

       แม้การแสดงพลังของ ส.ว.จะเป็นไปภายใต้ มาตรา 256 (3) ที่กำหนดให้ชั้นรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียง ส.ว.​ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงจาก 250 เสียงร่วมรับหลักการด้วย

       แต่ปรากฎการณ์ที่เป็นต้นตอ “คว่ำ” โดยเฉพาะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “พรรคพลังประชารัฐ” ออกมาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ “อนุชา บูรพชัยศรี“ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะแก้มาตรา 144 และ มาตรา 185 ที่เป็นหัวใจของการปราบทุจริตคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเพียงร่างแก้รัฐธรรมนูญของ “พลังประชารัฐ” เพียงพรรคเดียวที่ขอแก้ไข

       สิ่งที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น 24 มิถุนายน 2564 ที่เป็นวันลงมติของรัฐสภา จึงเห็นท่าทีชัดเจนจาก ส.ว.ระดับคีย์แมน ทั้ง “สมชาย แสวงการ- วัลลภ ตังคณานุรักษ์-ถวิล เปลี่ยนศรี” ลุกอภิปรายคัดค้านร่างของพรรคพลังประชารัฐอย่างดุเดือด รวมถึงวิจารณ์ว่า “ตั้งใจเปิดช่องทุจริต”

162467355171

        และที่สุดก็กลายเป็นการลงมติคว่ำที่แข็งกร้าว ผ่านมติ ไม่มี ส.ว.กล้ารับหลักการแม้แต่คนเดียว

        ปรากฎการณ์นี้ คอการเมืองประเมินว่า หาก ส.ว.ลงมติรับหลักการ ภัยร้ายแรงจะเกิดขึ้น 2 ประการ ทั้งต่อตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ที่จะถูกตราหน้าว่าสนับสนุนการโกง (ในอนาคต) ซึ่งจะกลายเป็น “เรื่องร้อน” ที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองนำไปขยายผลโจมตี ยกระดับชุมนุม เพิ่มแนวร่วมชุมนุมได้ไม่ยาก และกลุ่มส.ว.ที่รับหลักการก็จะไม่พ้นข้อหาเปิดช่องให้นักการเมืองงาบงบฯ -แทรกแซงข้าราชการ

        ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 11 ฉบับที่เจอหางเลข ถูกคว่ำไปด้วย แน่นอนว่า 1.เป็นร่างของพรรคฝ่ายค้านที่ยืนตรงข้ามรัฐบาล และตั้งใจทำลายกลไกของ คสช. ทั้งเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. - สร้างกลไกต้านรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ - ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

162467355196

        และ 2.เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่พยายามฟื้นกลไกต่อกร “อำนาจรัฐ” รวมถึงเปลี่ยนกติกาที่มาของนายกรัฐมนตรี - ลดบทบาท ส.ว.ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ

        ดังนั้นปฏิบัติการคว่ำ 12 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ส.ว.จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการตัดตอนผลกระทบต่อการจัดวางโครงสร้างอำนาจที่ คสช.ตั้งใจให้เป็น

        สถานการณ์นี้ ย่อมส่งผลต่อเกมการเมืองในสภาฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการควบคุม-คุมเกมแก้รัฐธรรมนูญที่เหลือรอด 1 ฉบับ คือการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วนผสม 350 เขต 150 บัญชีรายชื่อ ไปเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยปรับระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้สูตรคำนวณแบบ“เติมโบนัส”ให้พรรคการเมือง จากที่ได้ ส.ส.เขตแล้วยังได้เพิ่มในระบบบัญชีรายชื่อ

        แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้จะมีหลักการเดียว เป็นเรื่องของ ส.ส. ไม่ใช่เรื่องของ ส.ว.แต่หากการออกแบบกลไกของระบบเลือกตั้งมีเพียงจุดเดียว ที่ทำให้ "ผู้นำ" พลาดความเป็นต่อ โอกาสที่ "ปุ่มสั่งการ” จะใช้ผ่าน ส.ว.ย่อมเกิดขึ้นได้

        อย่างไรก็ดี ฝั่งนักเลือกตั้งเชื่อว่าจะยังไม่เกิดในชั้นแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ เพราะทุกฝ่ายโดยเฉพาะ "พรรคพลังประชารัฐ” ต้องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง

162467355284

        ขณะที่อีกมุม ก็ต้องจับตาการแก้กฎหมายระดับรอง ที่สำคัญไม่แพ้ “รัฐธรรมนูญ” คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.” ที่ฝั่งนักการเมืองต้องการให้เลิกระบบไพรมารี่โหวต - กลไกหาตัวแทนลงเลือกตั้ง - การสร้างฐานสมาชิกในเขตเลือกตั้ง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ชุดที่ผ่านมา และส่วนใหญ่กลายมาเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบันผลักดันให้เกิดขึ้น

        เพราะฝั่งนักการเมืองมองว่า นี่เป็นกลไกสร้างอิทธิพลคนการเมืองมากกว่าพัฒนาพรรคการเมือง และกลายเป็นภาระทางงบประมาณเกินจำเป็น รวมถึงอุปสรรคสำคัญต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการเลือกตั้งรอบหน้า

        ความพยายามของนักเลือกตั้ง นักการเมืองที่หวังจะเปลี่ยนแปลงกติกาเลือกตั้งใหม่ และแอบหวังจะให้อำนาจ คสช.หมดไปจากการเมือง ดูแนวโน้มจะเป็นไปได้ยาก เมื่อองคาพยพ 3 ป. ยังมีอำนาจ “เบ็ดเสร็จ” ผ่านกลไก ส.ว.ที่เป็นปราการเหล็กที่ยากจะฝ่าไปได้.