‘ผู้สูงวัย’กลุ่มเสี่ยงสูง รีบฉีดวัคซีนด่วน!

‘ผู้สูงวัย’กลุ่มเสี่ยงสูง รีบฉีดวัคซีนด่วน!

จากสถิติการระบาดติดเชื้อโรคโควิดที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากคือกลุ่ม"ผู้สูงอายุ" ถ้าอย่างนั้นอะไรคือเหตุผลที่คนกลุ่มนี้ต้องรีบฉีดวัคซีน แม้จะไม่อยากฉีด  

"ยอดติดเชื้อโควิดทุกวันนี้เฉลี่ย 3,000 คน/วัน ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน มีผู้สูงอายุไม่มาก แต่เคสเสียชีวิตครึ่งหนึ่งจะเป็นผู้สูงอายุ แสดงว่าเขาไม่ได้เป็นผู้รับเชื้อมาเอง เมื่อดูจากทุกกลุ่ม อัตราเสียชีวิตจะเท่ากับ 0.3% แต่กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราเสียชีวิตกว่า 10 % ซึ่งมากกว่า 20-30 เท่า" นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ในงานเสวนาออนไลน์ สูงวัยไปด้วยกัน : วัคซีนโควิด-19 กับผู้สูงอายุ จัดโดยเฟซบุ๊คแฟนเพจสูงวัย

ผู้สูงอายุเสี่ยงที่สุด

นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น

"การระบาดรอบแรกของ จ.ปทุมธานีมีผู้ป่วยไม่มากแค่ 40 กว่าราย รอบสองเป็นแรงงานต่างด้าวในตลาด จะมีปัญหาในรอบสาม จุดเริ่มต้นจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ เพราะคนปทุมธานีไปทำงานในกทม.แล้วรับเชื้อกลับมาแพร่ให้ผู้สูงอายุในบ้าน ต้นเดือนเมษายนมีผู้สูงอายุติดเชื้อ และมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง เพราะป้องกันตัวเองได้น้อย ลูกหลานต้องระวังตัวเองมากกว่าให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ระวัง 

162192429885

นอกจากเราจะให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) พยายามรณรงค์ว่า ผู้สูงอายุถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง หรือไปงานที่มีการรวมกลุ่มคนหมู่มาก การพูดคุยโอบกอดก็ต้องเว้น ให้คุยทางโทรศัพท์หรือเฟสไทม์แทน เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุติดเชื้อมาจากลูกหลานที่ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ถ้าเข้าใกล้ให้สวมหน้ากาก ให้คิดเสมอว่าเราติดเชื้อแล้ว เพราะการติดเชื้อไม่แสดงอาการมีค่อนข้างมาก"

กลุ่มเปราะบางเสี่ยงไม่แพ้กัน

ตัวแทนของคณะทำงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ณัฐวุฒิ กรมภักดี กล่าวว่า การระบาดแต่ละครั้งมีความแตกต่าง ในช่วงแรกไม่รุนแรง จึงมีหน่วยงานออกมาช่วยเหลือมาก ต่างจากครั้งล่าสุด ที่แทบไม่มีการช่วยเหลือเลย

"การระบาดระลอกแรกและระลอกสอง กลุ่มคนจนเมืองที่มีสถานะเป็นพลเมืองระดับล่าง ไม่ได้มีความเสี่ยงเท่าไร อย่างกลุ่มคนไร้บ้านก็ไม่ค่อยอยากไปสุงสิงกับใครอยู่แล้ว และคนอื่นก็ไม่อยากมาสุงสิงด้วย ผลกระทบเรื่องการติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่การระบาดระลอกสาม กลุ่มคนจนเมืองเริ่มเป็นคลัสเตอร์มากขึ้น เช่น ที่คลองเตย หรือแคมป์คนงานก่อสร้าง

กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนไร้บ้านมีความเปราะบาง เพราะบางคนเป็นผู้สูงอายุไม่มีครอบครัว ไม่มีคนคอยดูแล การป้องกันโรคก็มีน้อยมาก เพราะหนึ่ง.ไม่มีเทคโนโลยีรับรู้ข่าวสาร สอง.มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อาจอยู่รวมกันหรือที่อยู่คับแคบ สาม.ข้อมูลคนไร้บ้านทั่วประเทศที่ติดโควิดยังไม่มี เพราะไม่มีการตรวจเชิงรุกที่ครอบคลุมทั่วถึง

ถ้าตรวจก็อาจเจอ จากการสำรวจกลุ่มคนไร้บ้าน 7 จังหวัดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แม้จะใช้หน้ากากอนามัยแต่ใช้ซ้ำ มีการส่งต่อทั้งหน้ากากและอาหารจากภาครัฐมาน้อยมาก ไม่มีโรงทานเหมือนการระบาดช่วงแรกช่วงที่สอง"

การจัดการกับข้อมูลผู้สูงวัย

ในส่วนของการจัดการการระบาดของไวรัสโควิด คุณหมอสกานต์ บอกว่า ตอนนี้กลุ่มผู้สูงอายุไม่ว่าจะมีบ้านหรือไม่มีบ้าน ต่างก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความรุนแรง

"หมายเลขสายด่วน 1668 ที่ผมดูแล กลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อที่เข้ามา ถ้าอายุเกิน 70 ปีหรือ 65 ปีขึ้นไป เราจะจัดให้อยู่โซนสีเหลือง เพื่อส่งต่อโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองได้และส่งรายงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้สูงอายุมากๆ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ต้องส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเท่านั้น

162192427397

สำหรับผู้สูงอายุอยู่บ้านที่ติดเชื้อ ก็ต้องดูว่าสามารถดูแลตัวเองได้แค่ไหน หรือถ้าติดเชื้อทั้งครอบครัว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็จะถูกแยกอยู่ดี ไม่ว่าจะมีคนดูแลหรือไม่มีคนดูแล ส่วนกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดคือกลุ่มติดเตียง เพราะเราไม่สามารถหาคนมาดูแลคอยพลิกตัวป้อนอาหารให้เขาได้

การระบาดระลอกที่สามมีผู้ติดเชื้อวันละเป็นพัน สอบสวนโรคไม่ทัน จึงต้องใช้วิธีดึงข้อมูลมาจากศูนย์สถาบันป้องกันโรคเขตเมือง เพื่อดึงคนติดเชื้อเข้าไปในระบบให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ติดเชื้อไปทั่วแล้ว ต้องลดการระบาดให้น้อยที่สุด" 

สถานดูแลผู้สูงอายุ จุดอันตราย

จากการระบาดสองครั้งแรก ทำให้สถานดูแลผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน 3,000 กว่าแห่ง ถูกนำมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพราะมีผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางอยู่รวมกันจำนวนมาก ถ้ามีคนติดเชื้อเข้าไปเพียงคนเดียว ก็จะติดทั้งหมด

"ระบบการรักษาพยาบาลของต่างจังหวัดจะไม่เหมือนของกรุงเทพฯ  เรามีเครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่ระดับอำเภอถึงระดับตำบล มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทุกตำบล มี อสม. มีประชุมรายงานผู้ติดเชื้อทุกวัน เรากังวลในเรื่องของสถานดูแลผู้สูงอายุมากเพราะมีความเสี่ยง" คุณหมอสุรินทร์ แสดงความเป็นห่วงกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

การฉีดวัคซีนและผลข้างเคียง

นอกจากนี้ นพ.สกานต์ เล่าถึงการฉีดวัคซีนว่า กรณีผู้ป่วยลิ่มเลือดจะเป็นคนตะวันตก ยังไม่พบในคนเอเชีย เราฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่เจอการเกิดภาวะลิ่มเลือดในคนไทยหรือมีอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ยังไม่มีสักราย

"เรานำเสนอเข้าที่ประชุมกระทรวง แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก.ดูแลตัวเองได้ดี กลุ่มสอง.ติดบ้าน ช่วยเหลือตัวเองพอได้ แต่ออกนอกบ้านลำบาก กลุ่มสาม.ติดเตียง ต้องมีคนดูแลลุกจากเตียงไม่ได้

ดังนั้นในเรื่องการฉีดวัคซีนในกลุ่มแรก.ให้เดินทางไปฉีดเอง กลุ่มสอง.จัดรถรับส่งไปยังจุดฉีด กลุ่มสามและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดให้ ในอาทิตย์หน้ากระทรวงสาธารณสุขจะมีประกาศออกมาให้ทราบ"

162192437056

ส่วนเรื่องของการเตรียมตัวฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ คุณหมอให้ข้อมูลว่า

"อันดับแรก.ให้ผู้สูงอายุตรวจสอบโรคประจำตัว เช่น บางคนไขกระดูกเริ่มเสื่อม มีภาวะเลือดออกง่าย ต้องแจ้งพยาบาลผู้ฉีดวัคซีน เขาจะมีเทคนิคการฉีดและใช้อุปกรณ์ช่วยระงับเลือดได้ดีขึ้น หรือถ้าสงสัยว่าโรคประจำตัวจะมีปัญหากับการฉีดไหม ให้ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลประจำไว้ล่วงหน้า

ส่วนการดูแลตัวเองหลังฉีด ที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่ฉีดแอสตร้าเซเนก้า 50% จะปวดแขนบริเวณที่ฉีด มีไข้ มึนๆ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะผู้สูงอายุมักดื่มน้ำน้อย ถ้าไม่ใช่โรคไตระยะ 4-5 ที่ต้องจำกัดน้ำ ให้ดื่มน้ำปกติ

จากข้อมูลที่ผ่านมา ความรุนแรงจากการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้น 1 ใน 100,000 แต่การติดเชื้อโควิด 3-4% ใน 10,000 ส่วนการเสียชีวิตจากวัคซีน 1 ใน 1,000,000 ต่างกัน 300-400 เท่า

อันที่สอง อย่าเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อ คือป้องกันการติดเชื้อได้ 50-60% ช่วยลดความรุนแรงจากคนไข้ติดเชื้อต้องเข้าไอซียู (ICU ) เป็นแค่หวัด แต่ถ้าฉีดวัคซีนแล้วไม่ป้องกันตัว คุณจะกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุหรือคนอื่นได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนไม่ใช่การป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่จะลดความรุนแรงแน่ๆ 100%"