รัฐดึง 16 บริษัทรับซื้อผลผลิต-เสริมเทคโนโลยี เกษตรแปลงใหญ่ 2 ล้านไร่

รัฐดึง 16 บริษัทรับซื้อผลผลิต-เสริมเทคโนโลยี เกษตรแปลงใหญ่ 2 ล้านไร่

เกษตรฯ ดันเกษตรแม่นยำ-แปลงใหญ่ 2 ล้านไร่ ระยะที่ 2 สร้างทางรอดเกษตรกรไทย ดึง ส.อ.ท.ยกระดับการผลิตพืช 10 ชนิด "ยาง-อ้อย-มัน-ข้าว" ประสาน 16 บริษัท รับซื้อผลผลิตรอบรัศมี 100 กิโลเมตร เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อยอดสมาร์ทฟาร์ม

เกษตรแม่นยำหรือเกษตรอัจฉริยะคือ ทางรอดของภาคการเกษตรไทย ซึ่งทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป้าหมาย 2 ล้านไร่ ภายในปี 2564-2566 เพื่อให้เป็นทางรอดให้กับเกษตรกรในระยะยาว

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายด้านเกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ อยู่ภายใต้นโยบายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ส.อ.ท.(กรกอ.) ซึ่งจะสอดคล้องกับการทำเกษตรปลอดภัย และเชื่อมกับโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอยู่เดิม แต่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินโครงการเกษตรแม่นยำนี้กำหนดพื้นที่ไว้ 2 ล้านไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

 

ระยะที่ 1 ดำเนินการสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค.2564 ครอบคลุมสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา มะเขือเทศ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดหวาน รวมพื้นที่ 298,083 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 25,286 ราย รวมทั้งมีบริษัทเข้าร่วม 7 แห่งคือ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีเชียงใหม่ อุตสาหกรรม จำกัด

 

ทั้งนี้ การดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ ยางพารา โดยบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด ปาล์มน้ำมัน โดยบริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด อ้อยโรงงาน โดยโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ข้าวโพดหวาน โดยบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และมะเขือเทศ โดยบริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด

“การดำเนินโครงการในระยะแรกถือเป็นการดำเนินงานที่เน้นพัฒนาให้เกษตรกร รวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ทั้งเกษตรกรที่เป็น แปลงใหญ่เดิม แต่ยังไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของบริษัทรับซื้อผลผลิต แต่ยังไม่ได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ดำเนินการร่วมกันพัฒนา และสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในระบบแปลงใหญ่ให้รวดเร็ว“ นายอลงกรณ์ กล่าว

 

ดึงเอกชน 16 รายเข้าร่วม

 

ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับ (Scale up) ขึ้นไปสู่การรวมเป็นกลุ่มจังหวัดหรือภูมิภาค (Area base) โดยได้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเกษตร (Product base) ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมให้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งกำหนดระยะเวลาดำเนินการปี 2564-2566

 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด ประกอบด้วย ถั่วเหลือง น้ำยางสด เมล่อน ข้าว ถั่วเขียว พืชผัก ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และประมงพื้นบ้าน พื้นที่รวม 1.76 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 134,310 ราย และครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 42 จังหวัด

 

นอกจากนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท คือ บริษัทสวิฟท์ จำกัด จังหวัดนครปฐม , บริษัท ฟาร์ม สเตชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี , บริษัท วู้ดเวอร์คฟาร์ม จำกัด จังหวัดตรัง , บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดบุรีรัมย์

 

บริษัท พรีเมียร์ ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร , บริษัท เอส.เค.กรีน อโกร โปรดักส์ จำกัด , บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) , บริษัท อุบลไบโอเพาเวอร์ จำกัด , บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด , บริษัท น้ำตาล อุบล จำกัด

 

บริษัท Yamamori จำกัด , บริษัท ศรีแก้ว รับเบอร์เทค จำกัด , บริษัท ชัยชนะฟาร์ม จำกัด , บริษัท ขวัญข้าว อินเตอร์เทรด จำกัด , บริษัท อุดรสินไพบูลย์ จำกัด , บริษัท อุดรไรซ์ จำกัด และสหกรณ์จิตรักษ์วิถีพอเพียง

“เป้าหมายที่มีการเชื่อมโยงกับบริษัทรับซื้อในรัศมีรอบโรงงานในระยะ 100 กิโลเมตร ยกเว้นกรณีมีข้อจำกัดของแหล่งผลิต แต่สามารถจำหน่ายในราคาอันเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย โดย ส.อ.ท.และกรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดพื้นที่เป้าหมายรายแปลงร่วมกัน เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ดำเนินการ” นายอลงกรณ์ กล่าว

 

ทำแผนรับซื้อสินค้าเกษตร

 

นอกจากนี้ทั้ง ส.อ.ท.และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ต้องจัดทำแผนการผลิตและรับซื้อผลผลิตที่ชัดเจน โดย ส.อ.ท.จัดข้อมูลด้านการตลาด เช่น รายชื่อบริษัทรับซื้อผลผลิต คุณลักษณะผลผลิตที่ต้องการ ราคารับซื้อ ปริมาณความต้องการ และช่วงเวลาความต้องการของบริษัทที่รับซื้อผลผลิตที่สมบูรณ์ชัดเจน

 

รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การผลิตและจำหน่ายผลผลิตในทุกสินค้า ระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.หรือการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) หรือเอกสารการเชื่อมโยงการตลาดร่วมกัน และอาจจะดำเนินการผ่านระบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ของโรงงานเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกของ สอ.ท.ทั้งกลุ่มผู้ค้าในประเทศและต่างประเทศ

 

เสริมเทคโนโลยี-จัดการปุ๋ย

 

ทั้งนี้ จะเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการนำเกษตรกรตามบัญชีแปลงใหญ่และบัญชีการขึ้นทะเบียนบัญชีเกษตรกร (ทบก.) ในสินค้าเป้าหมายที่มีอยู่แล้ว และแปลงที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย (Cluster) วางแผนผลิตและจำหน่ายที่เป็นระบบ เพื่อการกำกับดูแลความสม่ำเสมอของปริมาณ และคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน และความต้องการของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้โครงการแปลงใหญ่

 

นอกจากนี้ จะมีการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน พัฒนาศักยภาพพื้นที่ตามผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ของระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำไปสู่การแนะนำและส่งเสริมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

 

รวมทั้งสนับสนุนและให้บริการปัจจัยการผลิต โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเครือข่ายภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการลดต้นทุนการผลิต

 

พัฒนาคน“เกษตรสมัยใหม่”

 

ส่วนการพัฒนาคน (เกษตรกร เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง) โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การเกษตรที่ทันสมัย แก่เกษตรกรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร และเชื่อมโยงกับศูนย์ AIC ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวม และกำหนดแนวทางพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ทั้ง AIC ระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนและสร้างระบบการบริหารจัดการสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบก้าวหน้า

 

รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ อบรมให้ความรู้และคำแนะนำการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ในการผลิตสินค้าเกษตร และตรวจรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย

 

สนับสนุนการให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Provider: ASP) โดย ส.อ.ท. ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรกลเกษตรที่ทันสมัย เพื่อยกระดับไปสู่เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เกษตรอัจฉริยะหรือระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ขั้นเตรียมการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการขนส่งออกสู่ลูกค้า/ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งสนับสนุนการใช้บริการของวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ให้บริการทางการเกษตร หรือ Start Up/Social Enterprise ที่มีความพร้อมในการให้บริการด้านการเกษตร

 

สร้างระบบติดตามวัดผล

 

การบริหารจัดการโครงการและการวางแผนการขับเคลื่อน จะติดตามผลการดำเนินงาน ในช่วงปฏิบัติการโดยใช้กลไกการบูรณาการ การทำงานของหน่วยงานในจังหวัดในการขับเคลื่อนงานคือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน

 

ส่วนระดับนโยบายใช้กลไกการกำกับดูแล โดยคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิต และการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานระดับจังหวัดรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ และส่งข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ส่วนกลาง

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์