“แซดทีอี” ขยับสู่ 5G พลัสปูทางหนุนโรงงานอัจฉริยะ

“แซดทีอี” ขยับสู่ 5G พลัสปูทางหนุนโรงงานอัจฉริยะ

แซดทีอี" จับมือ "เอไอเอส" ชูแนวทางพัฒนาเทคโนโลยี 5G- แพลตฟอร์มบริการจัดการโรงงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน คุยทำความหน่วงได้ต่ำสุดแค่ 10 มิลลิวินาที มั่นใจช่วยไทยยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

นายจาง เจียนเผิง รองประธานอาวุโส ฝ่ายการตลาดระดับโลก บริษัท แซดทีอี คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า จากรายงานของสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) ระบุว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี 5G จะมีส่วนสัดสูงถึง 14% ของตลาดการสื่อสารเชื่อมต่อทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ข้อมูลยังบ่งชี้ว่าส่วนแบ่งการเชื่อมต่อในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นจนสูงได้ถึง 23% โดยสูงกว่าส่วนแบ่งเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ของประเทศระยะ 20 ปีของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ แซดทีอี มองว่าการปรับปรุงเครือข่าย 5G ให้ดีมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะบรรลุเป้าหมายในการเติบโตตามแผนได้อย่างแน่นอน

“แซดทีอี” ขยับสู่ 5G พลัสปูทางหนุนโรงงานอัจฉริยะ

 

ทั้งนี้ แซดทีอี ได้ร่วมมือกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ในการวางระบบโซลูชั่นโหนดเอ็นจิ้นที่โรงงานยาวาต้า จังหวัดนครราชสีมา ในการใช้งาน offloading และการคำนวณแบบเอดจ์ คอมพิวติ้งในโรงงาน ผลที่ได้พบว่า ระบบดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับโรงงานเป็นอย่างมาก โดยความหน่วงวัดได้เพียง 10 มิลลิวินาที (MS) เท่านั้นซึ่งตอบรับโจทย์เรื่องข้อกำหนดในการประมวลผลข้อมูลในพื้นที่ได้อย่างดี

ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้พัฒนาจากประสบการณ์จากเทคโนโลยี 5G ในประเทศจีน เพื่อให้ตอบสนองการทำงานของอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ มักประสบกับปัญหาในการดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ จากปัญหาที่พบเหล่านี้ แซดทีอีให้ความตระหนักและได้คิดค้นวิธีการที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการรวมโครงสร้างพื้นฐานของ 5G เข้าด้วยกัน หรือ 5G พลัส และจัดหาโมดูลส่วนประกอบที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปที่สภาพการณ์ของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อที่จะพัฒนาให้เกิดการทำงานได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด โดยมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ 5G ในโรงงานที่พบได้บ่อย คือการใช้ มัลติแอคเซส เอดจ์ คอมพิวติ้ง (เอ็มอีซี)

เขา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการทดสอบใช้การควบคุมผ่านคลาวด์ (Cloud Programmable Logic Control) สำหรับระบบควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมโดยพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความหน่วงของการควบคุม โดยระบบควบคุมโรงงานที่กล่าวนี้ได้สร้างให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมอัจฉริยะต่างๆ ในโรงงานทำให้ความต้องการแรงงานด้านการผลิตต่ำกว่าโรงงานอื่นๆ 25% ด้วย