‘ติ่งแดง’ VS ‘ติ่งส้ม’ ความฝันไม่เท่ากัน

‘ติ่งแดง’ VS ‘ติ่งส้ม’  ความฝันไม่เท่ากัน

ก่อนถึงวาระรำลึก 89 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม ปรากฏว่าในโซเชียลของฝ่ายประชาธิปไตยลุกเป็นไฟ เมื่อ “ติ่งแดง” กับ “ติ่งส้ม” เปิดศึกวิวาทะ ตั้งแต่เรื่องบัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อปฏิรูปสถาบันฯ

ประเด็นระบบเลือกตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย ชูบัตร 2 ใบ(รัฐธรรมนูญ 2540) ชนรุ่นน้องในพรรคก้าวไกล อย่างชัยธวัช ตุลาธน และรังสิมันต์ โรม ที่พยายามงัดบัตร 2 ใบ(แบบเยอรมัน) มาตอบโต้

บรรดา “ติ่ง” สองพรรคต่างก็เข้ามาร่วมทำศึกระบบเลือกตั้งกันนัวเนีย ทำเอา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ ต้องออกมาหย่าศึก ชี้ระบบเลือกตั้งแบบไหน ต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ขอให้ยุติเรื่องไว้ก่อน ควรหันมาสนเรื่องปากท้องชาวบ้านดีกว่า

จริงๆ แล้ว เรื่องบัตรเลือกตั้งยังไม่ร้อนแรงเท่าเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ พลันที่เพจเยาวชนปลดแอก(รีเด็ม) ตัดต่อภาพทักษิณก้มกราบ...พร้อมข้อความ “จากปฏิรูปสถาบันฯ เหลือเพียงเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง”

ภาพนี้ภาพเดียว ทำเอาคนเสื้อแดง หรือติ่งโทนี่ โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เฟซบุ๊คร้อนฉ่า ทวิตเตอร์เดือดพล่าน ถึงขั้นด่า "เด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” แกนนำแดงอิสระบางกลุ่มเรียกร้องให้แอดมินเยาวชนปลดแอกลบโพสต์นั้น เพื่อลดแรงปะทะของติ่งสองสี

คนเสื้อแดงมองว่า การกระทำของเยาวชนปลดแอก(รีเด็ม) เป็นการหยามหมิ่นผู้นำในดวงใจของพวกเขา และยืนยันว่า “พี่โทนี่” ที่โผล่คลับเฮ้าส์ครั้งล่าสุด ไม่ได้พูดเรื่องตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1-2

ตรงข้ามกับ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำวีโว่ ที่วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้นะครับ ผมยืนยันในหลักการที่ #REDEM เสนอ การปฏิรูปสถาบันฯ ว่ามันคือข้อเรียกร้องที่พาเรามาพบเจอ และต่อสู้ร่วมกันจนมาถึงวันนี้ เมื่อคุณทักษิณพูดชัดว่า ส.ส.ร. ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็เท่ากับว่าการปฏิรูปสถาบันฯ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในที่นี้แม้ตัวผมเองจะเคารพคุณทักษิณ แต่ก็ต้องช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ได้สำหรับสังคมประชาธิปไตย”

พี่โทนี่พูดจริงหรือไม่? ต้องไปหาหลักฐานมาหักล้าง แต่ที่แน่ๆ พรรคเพื่อไทยเสนอตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่แก้หมวด 1-2 ศึกแก้รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ได้เห็นความขัดแย้งภายในฝ่ายประชาธิปไตยที่ร้าวลึกมาก เหมือนยุคหนึ่งที่คนเสื้อแดงแตกแยกกัน ระหว่าง “นปช.” กับ “แดงตาสว่าง”

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภา 2553 ภายในกลุ่มคนเสื้อแดง มีความขัดแย้งทางความคิด จนแยกออกเป็น “แดงเวทีใหญ่” (นปช.) กับ “แดงเวทีเล็ก” (แดงตาสว่าง)

การเกิดขึ้นของกลุ่มแดงสยาม นำโดยจักรภพ เพ็ญแข และสุรชัย แซ่ด่าน ทำให้คนเสื้อแดงที่ยึดอุดมการณ์ “ประชาธิปไตยไม่มีนามสกุล” เริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ มีการจัดตั้งมวลชนในบางกลุ่ม

ช่วงปี 2554 สุรชัย แซ่ด่าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข และสุนัย จุลพงศธร เดินสายจัดเสวนา “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ก่อนที่ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” จะตั้งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เป็นแกนกลางในการรณรงค์ล่ารายชื่อคนเสื้อแดง เสนอร่างแก้ไข ม.112

ปี 2555 นักวิชาการหัวก้าวหน้า กับกลุ่มแดงอิสระ นำรายชื่อประชาชน 3 หมื่นชื่อ พร้อมร่างแก้ไข ม.112 เสนอต่อพรรคเพื่อไทย แต่ภายหลัง นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น สั่งให้ ส.ส.เพื่อไทย ทิ้งร่างแก้ไข ม.112

นักวิชาการหัวก้าวหน้าผิดหวังอย่างรุนแรง ไม่คิดว่า พรรคเพื่อไทยจะหักหลังประชาชน และทักษิณ ชินวัตร ยังเล่นเกมต่อรองกับคนชั้นนำ

เวลานั้น ความขัดแย้งทางความคิดของแกนนำ นปช. กับแกนนำแดงอิสระ สะท้อนภาพอุดมการณ์บนเส้นขนาน ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยมีนามสกุล กับประชาธิปไตยไม่มีนามสกุล

แกนนำ นปช.บางคนจึงอธิบายว่า ไม่ใช่ความแตกแยก เป็นเรื่องเป้าหมายที่ไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนรถไฟสายประชาธิปไตย นปช.ขอลงแค่สถานีเลือกตั้ง แต่ “แดงตาสว่าง” ขอไปไกลกว่านั้น

วันนี้ ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ในฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทะลุเพดานไปแล้ว แต่เพื่อไทยกลับไปไม่ถึงเพดาน

เอฟซีพี่โทนี่มองว่า ทุบเพดานหรือลดเพดาน เป็นเรื่องยุทธวิธี จะก้าวล่วงแบบไร้เดียงสา หรือสู้อย่างมีจังหวะก้าว คงต้องถกเถียงกันอีกนาน และที่สำคัญ พี่โทนี่กับเด็กๆ ฝันคนละเรื่องกัน