ส่องEEC…โอกาส-ท้าทาย ฐานยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค

ส่องEEC…โอกาส-ท้าทาย     ฐานยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากทัศนคติของผู้บริโภคที่เปิดรับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ท่าทีของหลายประเทศที่เริ่มประกาศยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากทัศนคติของผู้บริโภคที่เปิดรับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ท่าทีของหลายประเทศที่เริ่มประกาศยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) จากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปรับตัวของผู้นำอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมมาถึงประเทศไทยที่มียานยนต์ ICE เป็น Product Champion และมี Supply Chain ที่แข็งแกร่งในพื้นที่ EEC มานานนับสิบปี

สำหรับประเทศไทย ยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตที่เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ที่จะกลายเป็นอนาคตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยภาครัฐพยายามวางรากฐานปรับเปลี่ยนไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคตามนโยบาย “30/30” หรือเพิ่มกำลังการผลิตรถที่ปราศจากการปล่อยไอเสีย (ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 พร้อมตั้งเป้าใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วประเทศให้ได้ 1 ล้านคันภายในปี 2025

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ไม่เพียงแต่จะต้องเตรียมความพร้อมในแง่ของการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและประกอบตัวรถ ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งการ New Skill Up-skill และ Re-skill ที่เข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว 

การเร่งพัฒนาชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง “แบตเตอรี่”ก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้เดินหน้าได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ แม้เราจะเห็นผู้ประกอบการในประเทศประกาศตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมกระจายในพื้นที่ EEC บ้างแล้ว ทั้งจาก บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในเครือ ปตท. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) รวมถึงการร่วมมือระหว่างสวนอุตสาหกรรมโรจนะและบริษัท EVLOMO จากสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าไทยจะยังขาดทรัพยากรต้นน้ำที่เป็นหัวใจหลักของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง “แร่ลิเธียม” และ “แร่นิกเกิล” ที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน EEC สะท้อนจากสถิติการลงทุนจากต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) 4.3 หมื่นล้านบาท และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ 3.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ไทยยังเจอคู่แข่งจากชาติอาเซียนด้วยกันที่หวังจะเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง “อินโดนีเซีย” จากความได้เปรียบที่มีแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกหรือราว 20% ของทรัพยากรทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้แบรนด์ผู้ผลิตยานยนต์หลายค่าย เช่น Toyota Hyundai และ Tesla รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก อาทิ บริษัท CATL ของจีน LG ของเกาหลีใต้ ต่างก็ให้ความสนใจลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง

ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนการผลิตแบตเตอรี่ขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะธุรกิจติดตั้งและประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดในประเทศปี 2020 สูงถึงเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และมาตรการที่ดึงดูดการลงทุนอย่างรอบด้าน นอกจากจะช่วยให้ไทยยังสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับฐานผลิตยานยนต์ประเทศอื่นแล้ว ยังจะช่วยดึงดูดให้พื้นที่ EEC เป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักลงทุนในแง่ของการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่อื่นๆ ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย