ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับประเดิมเดือนแรกปี 65 สัญญาณดี เพิ่ม 50.89%

ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับประเดิมเดือนแรกปี 65 สัญญาณดี เพิ่ม 50.89%

จีไอที เผย ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับประเดิม เดือนแรกปี 65 ทำได้มูลค่า 767.48 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 50.89% หากหักทองคำออกยังบวก 48.16% ชี้ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว จับตาปัจจัยเสี่ยง โอมิครอนยังระบาด เงินเฟ้อสูง ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที( GIT) เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือนม.ค.2565 มีมูลค่า 767.48 ล้านดอลาร์ เพิ่มขึ้น 50.89% คิดเป็นสัดส่วน 3.61% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 580.29 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 48.16% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงมาก สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม ที่มีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่ประสบปัญหากำลังซื้อชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีอัตราการฉีดวัคซีนประชากรเกือบทั้งหมด และมีการกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น สหรัฐฯ เป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 82.67% อินเดีย เพิ่ม 164.87% ฮ่องกง ซึ่งที่ผ่านมา การส่งออกชะลอตัวมาโดยตลอด กลับมาเพิ่ม 9.39% เยอรมนี เพิ่ม 3.19% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 209.29% ออสเตรเลีย เพิ่ม 51.97% อิตาลี เพิ่ม 172.53% ส่วนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม ลด 11.56% , 8.28% และ 4.89%

 

สำหรับสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เพชรเจียระไน เพิ่ม 83.38% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 17.80% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 52.01% พลอยก้อน เพิ่ม 116.87% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 86.83% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 142.32% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 36.26% อัญมณีสังเคราะห์ เพิ่ม 164.95% และทองคำ ได้กลับมาขยายตัว 60.04% จากการที่ราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 19.91% เพชรก้อน ลด 62.87%

นายสุเมธ กล่าวว่า แม้ภาพรวมและทิศทางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจะฟื้นตัวขึ้น การบริโภคมีมากขึ้น แต่สถานการณ์เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามา จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มิ.ย.2525 ที่อัตรา 7.5% ส่งผลให้ธนาคารโลกปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565-2566 เติบโตลดลงเป็น 4.1% และ 3.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ จะต้องเฝ้าระวังปัจจัยอย่างอัตราเงินเฟ้อ หนี้สินที่สูงขึ้น และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าเพชรในตลาดโลก กลายเป็นปัจจัยกดดันใหม่ที่ต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยต้องหยุดชะงัก ผู้ประกอบการจะต้องหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขยายการค้า เพราะการประกอบธุรกิจไม่อาจใช้รูปแบบการค้าแบบเดิมได้ การผสานช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ ยังมีความจำเป็นและสำคัญมากขึ้น การเลือกช่องทางที่ใช่และเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเลือกเฟ้นให้เหมาะสมในการใช้งาน จึงจะทันกระแสและสามารถแข่งขันในตลาดยุคดิจิทัลได้