เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดรอยแผลเป็นประเทศ

เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดรอยแผลเป็นประเทศ

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้สร้างบาดแผลให้กับคนไทยและทุกภาคส่วน ซึ่งการฉัดวัคซีนที่กำลังปูพรมทั่วประเทศจะเป็นหนทางในการก้าวข้ามวิกฤติ ดังนั้นจำเป็นต้องส่งมอบวัคซีนตามแผนจนถึงสิ้นปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน

รัฐบาลเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.2564 โดยที่ผ่านมาได้เตรียมแผนการฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และจุดฉีดวัคซีนเอกชน โดยประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 และนับถึงวันที่ 5 มิ.ย.2564 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.19 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 2.84 ล้านราย และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1.34 ล้านราย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามกำหนด เพราะถ้าไม่ได้รับจะทำให้แผนการฉีดวัคซีนต้องปรับใหม่ และจะมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ในด้านสาธารณสุข มองในประเด็นจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม พบว่านับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 177,467 ราย อยู่ในอันดับที่ 80 ของโลก โดยมีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสม 126,517 ราย และกำลังรักษาอยู่ 49,714 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,142 ราย ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตในอัตราส่วนไม่สูงมาก แต่ถือเป็นความสูญเสียจากการเสียชีวิต และมีความสูญเสียจากการรักษาพยาบาลที่เป็นต้นทุนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งผู้อยู่ในวัยแรงงานจำนวนไม่น้อยต้องออกจากงาน หรือมีชั่วโมงการทำงานลดลง นั่นหมายถึงรายได้ต้องหายไปด้วย โดยในเดือน เม.ย.2564 มีผู้ประกันตนที่ยื่นขอใช้สิทธิทดแทนกรณีว่างงาน 318,529 คน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วอยู่ที่ 215,652 คน ซึ่งผู้ประกันตนที่ขอใช้สิทธิทดแทนกรณีว่างงานต่อเดือนเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเกินเดือนละ 300,000 คน มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 หลังจากสถานประกอบการได้รับผลกระทบจนจ้างงานต่อไม่ไหวมากขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยต้องมีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และเมื่อมีการระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ถึงปัจจุบัน ทำให้เงินที่กู้มาไม่เพียงพอต่อการรับมือในอนาคต จึงต้องออก พ.ร.ก.ฉบับเพิ่มเติมกู้เงินอีก 500,000 ล้านบาท

วิกฤติที่เกิดขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างบาดแผลให้กับคนไทยและทุกภาคส่วน รวมถึงทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อมาเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ ซึ่งการฉัดวัคซีนที่กำลังปูพรมทั่วประเทศจะเป็นหนทางในการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ไปได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการส่งมอบวัคซีนตามแผนจนถึงสิ้นปี รวมถึงฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด