การพูดในที่ชุมนุมชนเป็นศาสตร์ที่สอนกันมานับพันปี ในโลกตะวันตกมีหลักฐานบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอียิปต์ กรีก โรมัน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในโลกตะวันออกนั้นถือกันว่าการพูดหรือวาทศาสตร์เป็นศิลปศาสตร์แขนงหนึ่งที่นักปราชญ์พึงเรียนรู้

เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสตร์การพูดที่สอนกันนั้น โดยมากมักเป็นไปเพื่อการโน้มน้าวหรือเอาชนะใจผู้อื่น ในสมัยกรีกอาจเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองที่ต้องการโน้มน้าวใจประชาชนและโน้มน้าวใจในศาล พอมาถึงในปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องของนักการเมือง ผู้บริหาร หรือผู้นำ ที่ต้องการเอาชนะใจผู้ฟังให้เชื่อถือและปฏิบัติตาม 

จนชวนให้สงสัยว่า แล้วถ้าเราแค่อยากมีความสุขกับการพูด ไม่ได้อยากชนะใจใคร จะมีห้องเรียนการพูดสำหรับคนธรรมดาๆ แบบเราบ้างไหม

‘การพูด’ เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนและการทำงานทุกวันนี้ แต่การพูดกลับเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้ฝึกฝนในห้องเรียนน้อยมากเมื่อเทียบกับทักษะการสื่อสารอื่นๆ 

สำหรับใครหลายคนความทรงจำเกี่ยวกับการพูดในชั้นเรียน คือพิธีกรรมการสุ่มเรียกชื่อใครสักคนออกไป ‘อ่าน’ รายงานที่คนพูดอาจจะไม่ได้เป็นคนทำ ให้คนฟังที่อาจจะไม่ได้สนใจ เพื่อให้ได้คะแนนจากอาจารย์ที่อาจจะไม่ได้ฟังด้วยซ้ำ 

พอทำบ่อยๆ เข้า ก็ทำให้เราคุ้นเคยกับการ ‘พูดเพื่อพูด’ โดยไม่สนใจว่าจะมีใครฟังเราหรือไม่ไปโดยปริยาย

How to พูดอย่างไรให้ไม่ต้องถึงกับชนะใจใคร แค่มีความสุขกับการพูดเก่งในแบบของตัวเอง

บางคนโชคดีได้เรียน ‘วิชาการพูด’ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โดยมากวิชาเหล่านี้มักสอนเรื่องการใช้เสียง บุคลิกภาพ ภาษากาย การใช้สายตา การเตรียมเนื้อหา และการจัดการกับความประหม่า 

ในแต่ละสัปดาห์ผู้เรียนจะได้รับโจทย์ใหม่ๆ ให้ไปเตรียมเรื่องมาพูด เพื่อรับการประเมินและคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนและอาจารย์ แล้วนำกลับไปแก้ไขปรับปรุงการพูดให้ดีขึ้นจนเป็นมาตรฐานหรือแบบแผนเดียวกัน 

การได้ฝึกประสบการณ์การพูดต่อหน้าคนอื่นซ้ำๆ เป็นวิธีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าช่วยให้ผู้เรียนรับมือกับอาการกลัวการพูด และจัดการกับการพูดในที่ประชุมชนได้ดีขึ้น แต่จากการพูดคุยกับผู้เรียนที่คิดว่าตัวเอง ‘พูดไม่เก่ง’ หลายต่อหลายคน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่สอนการพูดมา ทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากไม่มีกระบวนการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สื่อสารกับตัวเองอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการฝึกพูดแล้ว แทนที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งมีความสุขกับการพูด และใช้การพูดเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดความรู้สึกออกไปได้อย่างดี ห้องเรียนการพูดอาจกลายเป็นที่ที่ ‘คอนเฟิร์ม’ ให้ผู้เรียนบางคนแน่ใจว่าตัวเอง ‘พูดไม่เก่งจริงๆ’ จนเลือกโยนเครื่องมือนี้ทิ้งไปในทันทีที่ก้าวออกจากห้องเรียนก็เป็นได้

ในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงทดลองใช้ ‘ประเด็นใคร่ครวญ’ ต่อไปนี้ในห้องเรียนวิชาการพูดเพื่อชวนให้ผู้เรียนได้สื่อสารกับตัวเองและเรียนการพูดอย่างรู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น 

พูดอย่างมีความหมาย

ถ้าตัดเรื่องคะแนนหรือการสอบออกไป ลองถามตัวเองว่าเราจะพูดสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร อะไรคือแก่นสำคัญหรือ Key Message ที่อยากให้คนฟังเข้าใจ รู้สึก จดจำ และนำไปปฏิบัติ และเมื่อเขาได้รับ Key Message นั้นแล้ว ชีวิตเราและชีวิตเขา (คนฟัง) จะดีขึ้นอย่างไร การเชื่อว่าตนเองกำลังถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายจนบอกตัวเองได้ว่า “ถ้าไม่พูดออกไปคงน่าเสียดาย” ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ของการพูดได้มากขึ้น แทนที่จะจดจ่ออยู่กับความประหม่าหรือกังวลของเราเอง

[เคล็ดลับ] “พูดกับคนฟังทุกคน แต่อย่าพยายามพูดกับทุกคนพร้อมๆ กัน” ในห้องเรียนการพูดเรามักสอนกันว่าให้สบตาผู้ฟังอย่างทั่วถึง แต่หากเราแน่ใจว่าคำบางคำ ข้อความบางข้อความที่เราพูดมีความหมายลึกซึ้งสั่นสะเทือนกับคนบางคนเป็นพิเศษ ก็อาจเลือกที่จะมองเข้าไปในดวงตาของคนคนนั้นให้นานอีกสักนิดก็ได้

How to พูดอย่างไรให้ไม่ต้องถึงกับชนะใจใคร แค่มีความสุขกับการพูดเก่งในแบบของตัวเอง

พูดในสิ่งที่เชื่อและเชื่อในสิ่งที่พูด

ลองถามตัวเองว่าเรา ‘อิน’ กับเรื่องที่จะพูดมากแค่ไหน เรื่องที่พูดเชื่อมโยงกับตัวตนของเราอย่างไร อย่าพยายามเขียนบทพูดสวยหรูที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่ซื้อ วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราพูดได้อย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติ คือการใช้เรื่องเล่า (Storytelling) โดยเฉพาะเรื่องเล่าจากประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเรา 

[เคล็ดลับ] ถ้าเป็นเรื่องเล่าของเราเอง ต่อให้ตื่นเต้นจนพูดไม่ได้ตามบทที่เตรียมมาทุกคำ แต่ก็ยังพอพูดได้จนจบ 

จงประหม่าอย่างกล้าหาญ

การจับสลากหรือสุ่มเรียกชื่อออกไปพูดนั้น ข้อดีคือช่วยให้ทุกคนในห้องเรียนได้พูดจนครบ แต่อาจไม่ช่วยให้ทุกคนก้าวข้ามความรู้สึกกลัวการพูดไปได้ วินาทีที่ตัดสินใจบอกตัวเองว่า “เอาวะ” แล้วลุกออกไปยืนต่อหน้าคนอื่นได้ เป็นการเติบโตสำคัญที่ผู้เรียนแต่ละคนต้องทำด้วยตนเอง 

ลองจับอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเราตอนก่อนจะตัดสินใจออกไปพูดว่าอะไรคือสิ่งที่กลัวหรือเป็นจินตนาการด้านลบที่วนเวียนในหัว เช่น กลัวลืมบทพูด กลัวพูดแล้วคนไม่ฟัง ไม่สนใจ แล้วพยายามแก้ที่ต้นเหตุ เช่น กลัวลืมบทพูด ก็ซ้อมให้มากขึ้น ดูบทพูด หรือใช้บัตรคำช่วยเตือนความจำ เป็นต้น 

[เคล็ดลับ] ในขณะที่ฝึกประสบการณ์การพูดลองค้นหาสิ่งกระตุ้น (Trigger) ของตนเองไปด้วย ว่าอะไรที่ทำให้เราประหม่าหรือเกิดอาการกลัวการพูด เช่น เวที ไมโครโฟน อาจารย์ เพื่อน (บางคน) เสียงดัง ฯลฯ แล้วพยายามทำความคุ้นเคยกับสิ่งนั้นในสถานการณ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น เช่นถ้าค้นพบว่าพอได้ยินเสียงตัวเองผ่านไมค์จะตื่นเต้นทันที ก็อาจไปถึงห้องเรียนก่อนเวลา แล้วทดลองฝึกซ้อมโดยใช้ไมโครโฟนด้วยก็ได้

How to พูดอย่างไรให้ไม่ต้องถึงกับชนะใจใคร แค่มีความสุขกับการพูดเก่งในแบบของตัวเอง

พูดผิดพูดใหม่ได้

การประเมินการพูดในห้องเรียนนั้น ไม่ว่าจะให้อาจารย์หรือเพื่อนประเมินโดยมากเป็นการฟังเพื่อ ‘หักคะแนน’ จากข้อบกพร่องที่พบ ทำให้คนฟังอาจพลาดโอกาสชื่นชมข้อดีของผู้พูด ซึ่งบางครั้งก็ไม่เป็นไปตามแบบแผนหรือเกณฑ์การประเมิน 

วิธีการที่ใช้ในห้องเรียนคือให้ผู้เรียนลองพูดแล้วถามตัวเองว่า 1) อะไรคือสิ่งที่ฉันทำได้ดีแล้ว และ 2) ถ้าได้พูดอีกครั้ง มีอะไรที่ฉันอยากทำให้ดีขึ้นหรือแตกต่างไปจากเดิมบ้าง เลือกมารอบละ 1 ข้อ ทำซ้ำๆ แบบนี้จนกว่าจะพูดได้อย่างที่ผู้พูดพอใจ ส่วนอาจารย์ก็มีหน้าที่เป็นโค้ชคอยบอก ‘วิธีการ’ ว่าสิ่งที่ผู้เรียนอยากแก้ไขนั้นจะต้องทำอย่างไร 

การสื่อสารกับตัวเองด้วยคำถามข้างต้น แตกต่างจากการรอฟังคำวิพากษ์วิจารณ์หรือการประเมินจากอาจารย์และเพื่อนฝ่ายเดียว เพราะบางครั้งผู้พูดก็รู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องแก้ไขอะไร การบอกตัวเองให้แก้ไข ย่อม ‘ดีต่อใจ’ กว่าการถูกตำหนิซ้ำๆ ที่สำคัญ การโปรแกรมตัวเองให้จดจำว่า ‘ยังมีครั้งต่อไปอยู่เสมอ’ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิด Growth Mindset และทลายขีดจำกัดที่เคย (เชื่อว่า) มีอยู่ได้

[เคล็ดลับ] เวลาซ้อมลองใช้วิธีอัดเสียงหรืออัดวิดีโอการพูดของตัวเอง แล้วถามคำถาม 2 ข้อข้างต้นทำซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อมองให้เห็นจุดดีของตนเอง ฝึกยอมรับข้อผิดพลาด และบอกตัวเองว่ายังมีครั้งต่อไป เมื่อมั่นใจมากขึ้นจึงค่อยฝึกพูดในสถานการณ์ที่ท้าทายขึ้นตามลำดับ เช่น พูดเป็นคู่ พูดเป็นกลุ่มเล็ก พูดเป็นกลุ่มใหญ่ พูดต่อหน้าประชุมชน ฯลฯ

How to พูดอย่างไรให้ไม่ต้องถึงกับชนะใจใคร แค่มีความสุขกับการพูดเก่งในแบบของตัวเอง

‘ประเด็นใคร่ครวญ’ ข้างต้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่สอนกันอยู่แล้วในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือชมรมฝึกการพูดทั่วไป เพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นจุดเน้นเท่ากับการพูดเพื่อโน้มน้าวและเอาชนะใจผู้อื่น 

แต่สำหรับคนที่รู้สึกกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง การสื่อสารกับตนเองอยู่เสมอควบคู่ไปกับการฝึกพูดไม่ว่าจะในหรือนอกชั้นเรียน อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราชนะใจตัวเอง และเอาชนะความเชื่อที่ว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อพูดต่อหน้าใครๆ ได้ในที่สุด

เพราะในโลกที่ไม่ใช่เวทีการประกวดหรือแข่งขัน ไม่มีใคร ‘พูดไม่เก่ง’ แต่ละคนก็เก่งในแบบของตัวเอง และฝึกฝนให้เก่งในแบบอื่นๆ ได้ด้วยถ้าไม่ถอดใจไปเสียก่อน

Writer & Photographer

Avatar

ชนกพร พัวพัฒนกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล