‘อาลีเพย์’ ยกเคส ‘Fly-Food’ ดึง 'ดิจิทัล' ฟื้นธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม

‘อาลีเพย์’ ยกเคส ‘Fly-Food’ ดึง 'ดิจิทัล' ฟื้นธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม

ธุรกิจบริการด้านอาหารกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจรายย่อยที่เปราะบาง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมองหาหนทางใหม่เพื่อสนับสนุนธุรกิจ ขณะที่การแพร่ระบาดส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปถาวร

ยกเคส 'Fly-Food' ดึงดิจิทัลหนุน 

สำหรับธุรกิจบริการอาหาร และเครื่องดื่ม (F&B) แบบเดิม แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า เช่น ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในเอเชีย แพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร Fly-Food ในไทย ได้นำเสนอโซลูชั่นภายใต้ความร่วมมือกับอาลีเพย์ เพื่อช่วยร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในไทย เน้นบริการส่งอาหารจีนให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2563 แพลตฟอร์ม Fly-Food มีฐานธุรกิจหลักในไทย เน้นให้บริการคนจีน ที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในไทย ด้วยการเปิดตัวมินิโปรแกรมบนอาลีเพย์ โดยคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ส่งผลให้คนจีนไม่สามารถเดินทางกลับประเทศ 

การดำเนินการที่รวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัพรายนี้ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแม้การแพร่ระบาด จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่ปัจจุบัน Fly-food มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยสูงถึง 700 รายการต่อวัน และมีร้านอาหารเข้าร่วมแพลตฟอร์มมากขึ้น โดย 40% ของร้านอาหารทั้งหมด หรือประมาณ 1,500 ร้าน เข้าร่วมแพลตฟอร์มหลังเกิดการแพร่ระบาด และหลายร้านมีรายได้ที่มากกว่าครึ่งมาจากออเดอร์ที่สั่งผ่าน Fly-Food เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าในการกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก

แนวคิดที่ว่า “ทำเลคือสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ” ยังเป็นความจริงแม้ยุคดิจิทัล กล่าวคือ ธุรกิจต้องอยู่ในจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก นอกจากจะมีหน้าร้านบนระบบดิจิทัลแล้ว ยังต้องทำประชาสัมพันธ์ และทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาธุรกิจของคุณได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะผ่านแอพส่งอาหาร แพลตฟอร์มบริการดิจิทัลไลฟ์ หรือเว็บไซต์ของคุณเอง

ปรับตัวสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

สำหรับ เทรนด์ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเริ่มก่อตัวขึ้นในธุรกิจ F&B เห็นได้จากธุรกิจที่มีหน้าร้านตามปกติก็เริ่มหันไปใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขายสินค้าในรูปแบบดิจิทัล เช่น บัตรกำนัลสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อดึงดูดนักช้อปออนไลน์ให้เข้ามารับประทานอาหารที่ร้านในแบบออฟไลน์

ปัจจุบัน ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และมองหาหนทางในการลดการสัมผัส โดยหันไปใช้บริการที่ไว้ใจได้เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ความสามารถในการจองผ่านระบบออนไลน์ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล เครือข่ายการจัดส่งสินค้าที่มีความคล่องตัวสูง ทั้งหมดนี้คือแง่มุมสำคัญในการพิจารณาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ควบคู่กับการดำเนินงานที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ

แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วโลกสามารถ ร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เพื่อมองหาหนทางใหม่ๆ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร การสั่งซื้อออนไลน์แล้วไปรับสินค้าที่ร้าน การสำรองที่นั่ง หรือเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพส่งเสริมการขายและการทำตลาดด้วยการทำงานและผนึกกำลังร่วมกัน รวมถึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบแปลกใหม่และสร้างสรรค์ ธุรกิจ F&B จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติและสร้างอนาคตใหม่ที่สดใสได้แน่นอน