โออีซีดีเพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลก เตือนระวังโควิดกลายพันธุ์

โออีซีดีเพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลก  เตือนระวังโควิดกลายพันธุ์

โออีซีดีเพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลกประจำปี 2564 แต่เตือนว่า แรงต้านยังมีอยู่อีกมาก เนื่องจากตลาดเกิดใหม่เข้าถึงวัคซีนไม่พอ ทำให้โลกยังต้องเสี่ยงกับโควิดกลายพันธุ์

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดวานนี้ (31 พ.ค.) เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 5.8% จาก 5.6% ที่เคยประเมินไว้ครั้งก่อน หลังจากปี 2563 เศรษฐกิจโลกต้องถดถอยอย่างหนัก ผลจากรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์และควบคุมการเดินทางเพื่อชลอการแพร่ระบาดของโควิด-19

“อาจจะเบาใจได้บ้างที่เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจสดใส แต่ก็ยังมีเรื่องไม่สบายใจตรงที่การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก” ลอเรนซ์ บูน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดีกล่าวถึงการที่เศรษฐกิจสหรัฐและจีนกำลังกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด และคาดว่าจะเติบโตแข็งแกร่งเหนือกว่าเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนีอยู่มาก

ทั้งนี้ โออีซีดีที่มีสมาชิก 38 ชาติ คิดเป็น 60% ของผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) โลก ชื่นชมที่รัฐบาลรับมืออย่างรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งพัฒนาวัคซีนได้เร็วสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงนโยบายสนับสนุนด้านการเงินการคลังที่ล้วนเร็วและมีประสิทธิภาพ

“แต่ยังมีแรงต้านอยู่อีกมาก” บูนตั้งข้อสังเกตและว่า การที่เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจรายได้น้อยได้วัคซีนไม่พอเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ถือเป็นภัยคุกคามพื้นฐาน เนื่องจากเขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีความสามารถทางนโยบายสำหรับหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

เสียงเตือนจากโออีซีดีเกิดขึ้นในช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้นสร้างความกังวลไปทั่วโลก อินเดียก็กำลังต่อกรกับสายพันธุ์หนึ่งเป็นเหตุให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูง

“ตราบเท่าที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกยังไม่ได้ฉีดวัคซีน พวกเราทุกคนยังคงเสี่ยงกับการเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดีแนะและว่า การล็อกดาวน์รอบใหม่อาจทำลายความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันบริษัททั้งหลายที่หนี้สินพอกพูนขึ้นมากอาจถึงขั้นล้มละลาย

ความเสี่ยงต่อจีดีพีโลกอีกประการหนึ่งคือ ตลาดเงินจะรับมือกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออย่างไร

เหล่านักวิเคราะห์ต่างกังวลว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ด้านโออีซีดีชี้ว่า ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว เป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัว

“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในทัศนะของเราคือ ความเสี่ยงที่ตลาดเงินไม่สามารถมองทะลุราคาที่สูงขึ้นชั่วคราวและการปรับราคาสัมพัทธ์ ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดและความผันผวนสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง” บูนกล่าวทิ้งท้าย

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลายประเทศที่บอบช้ำน้อยจากโควิดกลายเป็นว่าเจอโควิดกลายพันธุ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูง ทางการต้องออกมาตรการควบคุม ปิดโรงงาน และเร่งฉีดวัคซีนทั่วทั้งภูมิภาค

ในมาเลเซียจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันต่อหัวประชากรสูงแซงหน้าอินเดียไปแล้ว ขณะเดียวกันยอดรวมผู้ติดเชื้อในไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และติมอร์ตะวันออกก็เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในเดือนที่ผ่านมา

ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ที่พบการติดเชื้อโควิดหลังจากจีน เคยได้รับคำชมเชยว่าสกัดการระบาดระลอกแรกได้ดี แต่ยอดรวมผู้เสียชีวิตกลับสูงขึ้น 10 เท่าในช่วงสองเดือนมาอยู่ที่ 1,000 คนเศษ แต่ยังต่ำมากหากเทียบกับมาตรฐานโลก

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือทางการเวียดนามเผยเมื่อสุดสัปดาห์ว่า พบโควิดลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อินเดียกับอังกฤษที่อันตรายมาก แพร่ได้รวดเร็วทางอากาศ

อเล็กซานเดอร์ มาธอ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ กล่าวว่า โควิดสายพันธ์ุที่อันตรายและถึงแก่ชีวิตมากขึ้นตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่โลกต้องผลิตและแบ่งปันวัคซีนให้เร็วขึ้นอย่างมาก “เพื่อสกัดการระบาด ป้องกันไม่ให้ประชาชนจำนวนมหาศาลเสียชีวิต”

เมื่อวัคซีนยังไม่มีจำเป็นต้องสกัดโรคเป็นอันดับแรก เช่น ในเวียดนามที่มีประชากร 98 ล้านคน ควบคุมการระบาดระลอกก่อนหน้านี้ได้ มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 50 คน แต่วานนี้ (30 พ.ค.)เริ่มใช้มาตรการรักษาระยะห่างในนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางธุรกิจของประเทศแล้ว

แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมเผยกับรอยเตอร์ว่า ทางภาคเหนือของเวียดนาม โรงงานหลายแห่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีดังระดับโลก เช่น แอ๊ปเปิ้ล ซัมซุง ลดการผลิตลงเนื่องจากโควิดระบาด

ในไทย เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บริษัทธุรกิจเกษตรใหญ่สุดของประเทศ ปิดโรงเชือดไก่ 1 โรงเป็นเวลา 5 วัน หลังคนงานตรวจพบโควิด-19 นอกจากนี้ในประเทศยังพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง และเรือนจำอีกหลายพันคน

 ส่วนมาเลเซีย “ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ” เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันนี้ (1 มิ.ย.) โรงงานบางแห่งอาจดำเนินการต่อไปได้ต่อลดกำลังการผลิตลง พร้อมกันนั้นมาเลเซียพยายามเร่งการฉีดวัคซีนแต่ประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสมีไม่ถึง 6% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของอินเดีย

รอยเตอร์รายงานว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศให้ความสำคัญกับการจัดซื้อวัคซีนน้อยกว่าประเทศตะวันตก หรืออาจเป็นเพราะไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้ตอนนี้มีวัคซีนจำกัด

“เนื่องจากประชากรที่ฉีดแล้วมีสัดส่วนไม่มาก ประชากรส่วนใหญ่จึงยังไม่แน่ใจในวัคซีนต่อไป ระบบสาธารณสุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศตอนนี้ถ้าไม่เสี่ยงเจอคนป่วยล้นโรงพยาบาล ก็ล้นไปเรียบร้อยแล้ว” เตียว ยิก ยิง คณบดีวิทยาลัยสาธารณสุขซอว์ สวี ฮ็อก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ความเห็น

มีเพียงชาติร่ำรวยอย่างสิงคโปร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนในอัตราเทียบเท่าชาติตะวันตก กว่า 36% ของประชากรฉีดแล้วอย่างน้อย 1 โดส แต่ยังมีผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นทำให้ทางการต้องออกมาตรการเข้มงวดอีกครั้งในเดือนนี้

วานนี้ นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง แถลงว่า หากไม่มีเหตุการณ์ที่่ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง (ซูเปอร์สเปรดเดอร์) หรือคลัสเตอร์ใหญ่ สิงคโปร์จะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ตามแผน และหากการติดเชื้อในชุมชนลดลงต่อเนื่องก็อาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้หลังวันที่ 13 มิ.ย.

ส่วนฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของภูมิภาค มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์เมื่อวันศุกร์ (28 พ.ค.) อินโดนีเซีย ค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 7 วัน พุ่งสูงสุดในรอบกว่าสองเดือนเมื่อวันอาทิตย์ (30 พ.ค.) เมียนมาก็พบการติดเชื้อพุ่งสูงบริเวณใกล้ชายแดนอินเดีย ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อระบบสาธารณสุขที่ล่มสลายไปแล้วนับตั้งแต่รัฐประหาร 1 ก.พ.