ทั้งรถ ทั้งเรือ...มิชลิน ชู 2 นวตกรรม เริ่มใช้จริงปี 65

ทั้งรถ ทั้งเรือ...มิชลิน ชู 2 นวตกรรม เริ่มใช้จริงปี 65

เพิ่มวัสดุธรรมชาติในยางรถแข่ง ก่อนผลิตสำหรับรถทั่วไปปี 2573 พร้อมต้นแบบใบเรือ ลดสิ้นเปลิองเชื้อเพลิง 20%

เรื่องของการพยายามทนุถนอมโลกที่บอบช้ำของเราจากฝีมือมนุษย์ จากอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ได้รับความสนใจมากขั้นเรื่อยๆ หลายๆ องค์กร พยายามคิดค้นนวตกรรม แนวทางต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ รูปแบบ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขั้น

ในงาน “มูฟวิ่ง ออน” ปี 2564 มิชลิน จากฝรั่งเศส นำเสนอ 2 นวัตกรรม ที่น่าสนใจ มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับยาง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของมิชลินโดยตรง และเรื่องการเดินทางทางทะเล

ยางที่ว่า เป็นยางรถแข่งสมรรถนะสูง ซึ่งมิชลินระบุว่าผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืน 46% โดยติดตั้งมากับรถแข่งต้นแบบ GreenGT Mission H24 ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ที่พัฒนาไว้สำหรับการแข่งขันประเภท “เอ็นดูรานซ์ เรซซิ่ง” (Endurance Racing)

ยางชนิดนี้ มิชลินบอกว่ามันพัฒนาขึ้นสำหรับกีฬามอเตอร์สปอร์ตโดยเฉพาะ หลังค้นพบวิธีผลิตยางรถยนต์จากวัสดุที่มีความยั่งยืนสูง และให้สมรรถนะบนสนามแข่งที่เหนือกว่า

162303662798

โดยยางชนิดนี้ในการผลิตได้เพิ่มปริมาณยางธรรมชาติและการใช้คาร์บอนแบล็กซึ่งได้จากการรีไซเคิลยางที่หมดอายุใช้งานไปแล้ว

ขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนผสมของวัสดุอื่นๆ จากแหล่งชีวภาพหรือได้จากการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เปลือกส้ม, เปลือกมะนาว, น้ำมันดอกทานตะวัน, เรซินสน (Pine Resin) และเหล็กกล้าจากการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม

โดยการประชุมในงาน มูฟวิ่ง ออน มิชลินประกาศความมุ่งมั่นที่จะใช้วัสดุที่ยั่งยืน 100% ในการผลิตยางล้อทุกประเภทให้ได้ภายในปี 2593 โดยเป้าหมายระยะแรกคือผลิตให้ได้ 40% ภายในปี 2573

อีกเรื่องหนึ่งคือ โครงการ WISAMO : นวัตกรรมโซลูชั่นที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการขนส่งสินค้าทางทะเล”

WISAMO ย่อมาจาก Wing Sail Mobility หรือการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยใบเรือ

หลักการของโครงการนี้ คือการพัฒนาระบบใบเรือที่ยืดหดได้และพองลมอัตโนมัติ ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งได้กับทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือสำราญ

ระบบใบเรือดเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างแผนกวิจัยและพัฒนาของมิชลิน ร่วมกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย

ใบเรือชนิดพองลมใช้ประโยชน์จากลม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเรือ และลดผลเสียต่อต่อสิ่งแวดล้อมม ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

162303662711

ระบบใบเรือดังกล่าว สามารถติดตั้งได้กับเรือบรรทุกสินค้าและเรือสำราญส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการใช้งานกับ

  • เรือบรรทุกรถยนต์ (Ro-Ro Ships)
  • เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carriers)
  • เรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas Tankers)

เสากระโดงแบบยืดหดได้สามารถพับเก็บช่วยให้สะดวกเมื่อเรือเข้าเทียบท่าและลอดใต้สะพาน  นอกจากนี้ ระบบใบเรือนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้สูงถึง 20%

ระบบใบเรือนี้สามารถติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดเรือสำหรับเรือที่สร้างใหม่ หรือติดตั้งเพิ่มในเรือที่ผ่านการใช้งานแล้วก็ได้

ระบบใบเรือ WISAMO จะติดตั้งกับเรือบรรทุกสินค้าเป็นครั้งแรกในปี 2565 โดยมิชลินคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้หลังจากขั้นตอนการทดสอบเสร็จสิ้นสมบูรณ์