บทบาทรัสเซียในอินโดแปซิฟิก (ตอน3) อาเซียน ไทย | เรือรบ เมืองมั่น

บทบาทรัสเซียในอินโดแปซิฟิก (ตอน3) อาเซียน ไทย | เรือรบ เมืองมั่น

รัสเซีย มีสถานภาพเป็นคู่เจรจาของอาเซียนตั้งแต่ปี 2539 แต่ความสำเร็จของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเริ่มปรากฏหลังจากที่ Vladimir Putin ประกาศแถลงการณ์ความร่วมมือ Sochi Declaration ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ที่เมืองชายฝั่งทะเลดำเมื่อปี 2559

รัสเซียกับอาเซียนมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ASEAN Regional Forum และ East Asia Summit ส่วนแถลงการณ์ปี 2559 Sprit of Sochi คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน มี Action Plan เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใน 5 ปี โดยเฉพาะการต่อสู้กับก่อการร้ายข้ามชาติ ยาเสพติดและเครือข่ายอาชญากรรม ตลอดจนส่งเสริมโอกาสของการค้า การพาณิชย์  
    ปัจจุบัน มีความร่วมมือต่างๆ ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการแพทย์ทหารอาเซียน ที่ร่วมมือกับกองทัพไทย   ทั้งนี้ รัสเซียวางตำแหน่งของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเหมาะสม โดยการปล่อยให้จีน และสหรัฐ  แข่งขันอิทธิพลในพื้นที่  ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นขั้วทางเลือกใหม่ของสมดุลความมั่นคงอาเซียน  ไม่สร้างความขัดแย้งหรือเรียกร้องเงื่อนไข

รัสเซียสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียนบนพื้นฐานของทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี    รัสเซียเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างโรงไฟฟ้า  ขนส่งน้ำมัน และการซื้อขายอาวุธ  เวียดนาม เป็นประเทศที่มีความร่วมมือกันอย่างยาวนาน และมีปริมาณมากที่สุด และเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่ลงนามการค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจ Eurasia เมื่อปี 2558  อาวุธที่ประจำการในกองทัพเวียดนามประมาณร้อยละ 75 จัดหาจากรัสเซีย รวมทั้งเรือดำน้ำชั้น Kilo 6 ลำ เครื่องบินรบ และเรือรบจำนวนมาก แม้ว่าเวียดนามจะไม่ยินยอมให้รัสเซียเช่าฐานทัพที่อ่าว Cam Ranh เหมือนในยุคสงครามเย็น  แต่รัสเซียยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทั้งเวียดนามต่อไป
    เมียนมาร์ เป็นประเทศที่รัสเซียให้ความสนใจมากที่สุดในระยะหลัง โดยเมียนมาร์พัฒนากองทัพเรือและอากาศด้วยยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย หลังการรัฐประหารในเมียนมาร์  Alexander Fomin รมว.กห.รัสเซีย เดินทางเยือนเมียนมาร์เมื่อ 26 มี.ค.64 และบรรลุข้อตกลงทางทหารจัดหาอาวุธทันสมัยประมาณ 20 โครงการ และสามารถชำระค่าอาวุธด้วยการแลกเปลี่ยนแบบการค้าต่างตอบแทน (Barter Trade)  สองเดือนต่อมา รัสเซียก็ส่งมอบระบบขีปนาวุธ Pantsir ให้เมียนมาร์  และอีกหนึ่งเดือนต่อมา พล.อ.อาวุโส มินท์ อ่องไหล่ ผู้นำรัฐบาลเมียนมาร์ก็เดินทางเยือนกรุงมอสโก
    ลาว รับความช่วยเหลือจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แต่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนด้านความมั่นคงไม่นานมานี้ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินเชียงขวาง เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการทหารของทั้งรัสเซียและลาว  ทั้งนี้อาจเป็นฐานทัพแห่งแรกของรัสเซียในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้

 ส่วนฟิลิปปินส์ในยุคของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสหรัฐ ก็มีการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น เมื่อปี 2560 รัสเซียบริจาคปืนกล กระสุน และรถบรรทุกทหารให้ฟิลิปปินส์  และส่งมอบเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง Mi-17 ให้เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา 

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติฉบับปี 2564 ที่รัสเซียจะใช้ต่อไปอีก 6 ปีข้างหน้าชี้ให้เห็นถึงการขยายบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียอย่างชัดเจน  

ความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐ และการแสดงบทบาทในบางโอกาสให้เกินหน้าจีน น่าสร้างความหวังให้กับชาติอาเซียนว่ารัสเซียอาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการถ่วงดุลอิทธิพลสหรัฐและจีน  ด้วยสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่เริ่มแบ่งออกเป็น 2 ขั้วที่ชัดเจนขึ้น ทำให้รัสเซียต้องกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นในอนาคต  และลดความสัมพันธ์กับอินเดีย เหลือเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเอเชียกลางเป็นหลัก 

บทบาทรัสเซียในอินโดแปซิฟิก (ตอน3) อาเซียน ไทย | เรือรบ เมืองมั่น
    อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่น่าที่จะเข้าไปแข่งขันอิทธิพลกับชาติใดทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพราะรัสเซียมีความชำนาญและผลประโยชน์น้อยกว่าสหรัฐ  จีน อินเดียและญี่ปุ่น  แต่รัสเซียจะค่อยๆ แสวงหาความร่วมมือจากเอเชียมากขึ้น เพื่อชดเชยการถูกปิดล้อมจากชาติตะวันตกในยุโรป  รัสเซียไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่งในสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของเอเชีย-แปซิฟิก และจะอาศัยโอกาสที่เอเชีย-แปซิฟิกมีความขัดแย้งแต่ยังอยู่ในภาวะควบคุมได้  เพิ่มความสัมพันธ์ที่จำกัดกับประเทศต่างๆ ในลักษณะทวิภาคีในภาคที่รัสเซียเชี่ยวชาญ เช่น วิชาการ พลังงาน อาวุธยุทโธปกรณ์  ต่อไป
    ผลกระทบต่อไทยคือ โอกาสของการพัฒนาในหลายมิติของไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษา เทคโนโลยี การท่องเที่ยว การแพทย์และอาวุธยุทโธปกรณ์ จะมีมากขึ้นโดยผ่านทางความร่วมมือกับรัสเซีย  ไทยไม่อาจนำรัสเซียมาถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐ  หรือจีนได้ แต่ควรสนใจในด้านศักย์สงครามเปรียบเทียบ 
    การที่ประเทศเพื่อนบ้านสั่งซื้ออาวุธเทคโนโลยีสูงจากรัสเซียมากขึ้น ตลอดจนการสร้างสนามบินเชียงขวางในลาว  อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ในด้านความมั่นคงภายในประเทศ  ควรมีการจับตาความเคลื่อนไหวของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายทะเลทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ต่อไป.

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์